Home คดีอาญา เมื่อรถหายผู้เอาประกันไม่แจ้งให้ผู้รับประกันทราบทันที (ผิดสัญญา) มีผลอย่างไร

เมื่อรถหายผู้เอาประกันไม่แจ้งให้ผู้รับประกันทราบทันที (ผิดสัญญา) มีผลอย่างไร

2822

เมื่อรถหายผู้เอาประกันไม่แจ้งให้ผู้รับประกันทราบทันที (ผิดสัญญา) มีผลอย่างไร

ประกันวินาศภัยนั้นมีวัตถุประสงค์ในการมุ่งคุ้มครองทรัพย์สิน โดยในส่วนของรถยนต์ที่ใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ คือ ประกันภาคบังคับประเภทหนึ่งและประกันภาคสมัครใจอีกประเภทหนึ่ง

การประกันภาคบังคับนั้นมีขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัย โดยรัฐเห็นว่าเนื่องจากมีการสูญเสียมากมายบนท้องถนน และบางเหตุการณ์คู่กรณีต่างก็แทบไม่ได้รับการเยียวยาอย่างที่ควรเป็น ดังนั้น รัฐจึงออกกฎหมายมาบังคับให้ผู้ขับขี่หรือผู้ใช้ยานพาหนะบนท้องถนนจำเป็นต้องทำประกันชนิดนี้ไว้ เพื่อเป็นกองทุนในการช่วยเหลือเยียวยาหากเกิดภัยขึ้น

ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจนั้น ก็คือ การทำประกันกับบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดมีขึ้นจากการใช้ยานพาหนะ ซึ่งนอกจากจะคุ้มครองตัวทรัพย์แล้วยังคุ้มครองชีวิต ร่างกาย อนามัย ที่เสื่อมเสียไปจากความเสียหายที่อาจเกิดมีขึ้น โดยประกันภาคสมัครใจนี้เป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่งที่ระบุไว้ตามบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยังคงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกัน และผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ชำระค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกิดภัยขึ้น

หน้าที่ของผู้เอาประกันภัยนั้น นอกจากที่จะต้องชำระเบี้ยประกันแล้ว กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ให้ผู้เอาประกันภัยต้องบอกกล่าวต่อผู้รับประกันภัยโดยไม่ชักช้าในกรณีที่เกิดความวินาศตามภัยดังผู้รับประกันภัยตกลงประกันภัยไว้ (ป.พ.พ. มาตรา 881 วรรคหนึ่ง) เช่น แดงทำประกันรถยนต์ไว้กับ บริษัท ดีจังประกันภัย จำกัด ต่อมา รถยนต์ของแดงได้หายไปโดยไม่ใช่ความผิดของแดง แต่แดงเพิ่งจะแจ้งให้ บริษัท ดีงจังประกันภัย จำกัด ทราบเมื่อพ้น 2 เดือนนับจากวันที่รถหายไป เช่นนี้ บริษัท ดีจังประกันภัย จำกัด จะสามารถปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่แดงได้หรือไม่

ปัญหาดังกล่าว มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2501 ได้วางหลักว่า แม้สัญญาประกันภัยจะมีข้อตกลงว่า หากเกิดวินาศภัยขึ้นกับทรัพย์ที่เอาประกันภัยไว้ผู้เอาประกันจะต้องรีบบอกผู้รับประกันโดยไม่ชักช้า และแม้สัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนและเมื่อเกิดวินาศภัยแล้วแต่ผู้เอาประกันภัยไม่ได้บอกกล่าวผู้รับประกันภัยในทันที่ตามสัญญา แต่เมื่อเปรียบเทียบความสำคัญแล้วจะเห็นว่า การบอกกล่าวกับการชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญานั้นมีความสำคัญไม่เท่ากัน เพราะการชำระค่าสินไหมทดแทนมีความสำคัญมากกว่า ดังนั้น การที่แดงไม่แจ้งต่อ บริษัท ดีจังประกันภัย จำกัด ว่ารถหายในทันที ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้บริษัท ดีจังประกันภัย หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกัน

แต่อย่างไรก็ดีการที่แดงละเลยไม่บอกกว่าว่ารถหายในทันที ก็ทำให้ บริษัท ดีจังประกันภัยสามารถเรียกร้องเอาค่าเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นได้ เว้นแต่แดงจะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถบอกกล่าวได้ (ป.พ.พ. มาตรา 881 วรรคสอง)

สรุป เมื่อเกิดกรณีทรัพย์ที่ประกันภัยไว้สูญหายหรือได้รับความเสียหายจากภัยที่ผู้รับประกันภัยได้ตกลงรับประกันภัยไว้นั้น แม้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ไม่แจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบโดยทันที ซึ่งเป็นการผิดสัญญา ผู้รับประกันภัยก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย (ยังต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน) แต่ผู้รับประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การที่ผู้เอาประกันภัยไม่บอกกล่าวแก่ผู้รับประกันภัยในทันทีที่เกิดภัย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

 

Facebook Comments