Home บทความคดีแพ่ง หมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ศาลฎีกาพิจารณาจากเหตุใดบ้าง

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ศาลฎีกาพิจารณาจากเหตุใดบ้าง

2374

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ศาลฎีกาพิจารณาจากเหตุใดบ้าง

หลายท่านอาจยังสงสัยว่า การที่ศาลจะพิจารณาว่าคดีใดผิดหมิ่นประมาท คดีใดผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ศาลพิจารณาจากเหตุใดบ้าง ศาลฎีกาเคยพิจารณาและมีคำตอบไว้ใน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2547

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม สั่งคดีอาญาของกองบังคับการตำรวจเศรษฐกิจและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัทข่าวสด จำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการและร่วมดำเนินการของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการพิมพ์จำหน่ายหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และโฆษณา จำเลยที่ 6 เป็นผู้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉก ใช้นามปากกาว่า “พิทักษ์ 001” จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 6 ในฐานะส่วนตัว ภายใต้การใช้ จ้างวาน และยุยงส่งเสริมของจำเลยทั้งหกได้ใส่ความโจทก์ด้วยข้อความเป็นเท็จต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาณโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ในหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ประจำวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2543 ในคอลัมน์ “ยุทธจักรแปดแฉก” มีข้อความว่า “รองบัญญัติรับงานเมื่อไหร่คงต้องถามไถ่กันเรื่องแต่งตั้ง 3 รอง ผบ.ตร. ที่เสธ.หนั่นพยายามจะทำเป็นงานชิ้นสุดท้ายก่อนตกเก้าอี้ จะเดินหน้าแต่งตั้งหรือชะลอออกไปก่อน แต่ที่แน่ๆ หากมีการทำโผ 3 พล.ต.อ.ใหม่ คงไม่มีประเภทใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวเช้าจรดเย็นแล้วจะได้เลื่อนขั้นเป็นใหญ่เป็นโต เพราะยุคบัญญัติคงไม่มี “ที่ปรึกษา” อำนาจล้นฟ้าเต็มแผ่นดินมาล้วงโผตำรวจ เป็นแน่” จากบทความดังกล่าวจำเลยทั้งหกมีเจตนาให้ผู้อ่าน และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เข้าใจว่าโจทก์ไม่เหมาะสมที่จะได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ถ้อยคำที่ระบุว่า “ประเภทใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวเช้าจรดเย็น” หมายความถึง บุคคลที่ไม่ทำงานในหน้าที่แต่ใช้เวลาราชการไปทำงานส่วนตัว อันเป็นการใส่ความโจทก์ แม้ข้อเขียนข้างต้นจะมิได้ระบุชื่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 6 ก็ประสงค์และเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 6 เคยเขียนบทความทำนองเดียวกันนี้มาโดยตลอด โดยในช่วงเวลาที่จำเลยทั้งหกเสนอบทความดังกล่าวนั้นอยู่ใกล้วาระที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจจะพิจารณาแต่งตั้งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งโจทก์อยู่ในฐานะจะได้รับการพิจารณาเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งหกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48, 49 ให้จำเลยทั้งหกประกาศโฆษณาคำพิพากษาของศาลฉบับเต็ม ในหนังสือพิมพ์รายวัน ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ แนวหน้า ไทยโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยจำเลยทั้งหกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยทั้งหกประกอบอาชีพเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษตามคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2543 ซึ่งจำเลยที่ 6 เขียนลงในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉกตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ เห็นว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม จนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่า การใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรงการใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนการใส่ความที่เป็นถ้อยคำหรือข้อความอันจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็มิใช่จะพิจารณาหรือวัดจากความรู้สึกของผู้ถูกใส่ความเป็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลจะมีที่มาจากความเห็นแก่ตนเองของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ดังนั้น การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่วๆ ไป เป็นเกณฑ์ที่จะให้รับฟังว่าเป็นหมิ่นประมาทตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 หรือไม่ ข้อความที่จำเลยทั้งหกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2543 ตามเอกสารหมาย จ.16 ที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ความว่า “รองบัญญัติรับงานเมื่อไหร่ คงต้องถามไถ่กันเรื่องแต่ตั้ง 3 รอง ผบ.ตร. ที่เสธ.หนั่นพยายามจะทำเป็นงานชิ้นสุดท้ายก่อนตกเก้าอี้ จะเดินหน้าแต่งตั้งหรือชะลอออกไปก่อน แต่ที่แน่ๆ หากมีการทำโผ 3 พล.ต.อ.ใหม่ คงไม่มีประเภทใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวเช้าจรดเย็น แล้วจะได้เลื่อนขั้นเป็นใหญ่เป็นโต เพราะยุคบัญญัติคงไม่มี “ที่ปรึกษา” อำนาจล้นฟ้าเต็มแผ่นดินมาล้วงโผตำรวจเป็นแน่” นั้น ก็เป็นข้อความทั่วไปๆ ไปที่วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าควรเป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อทางราชการ โดยไม่มีข้อความใดที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวันในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉกเข้าใจว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวตั้งแต่เช้าจรดเย็นเป็นตัวโจทก์ เนื่องจากข้าราชการที่ประพฤติปฏิบัติตัวเช่นนั้น มิใช่มีเฉพาะข้าราชการตำรวจ แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายอื่นอีกเป็นจำนวนมากที่มิได้อุทิศตนให้แก่ทางราชการ การที่โจทก์นำบทความที่จำเลยที่ 6 เขียนไว้ในคอลัมน์อื่นของหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวันก่อนหน้านี้ ตามเอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.25 มารวมเข้ากับข้อความในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉกที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2543 ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ก็เป็นเพียงความเข้าใจของโจทก์เองเท่านั้น หาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่วไปไม่ เมื่อโจทก์ยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่บุคคลทั่วไปมิได้มีการรับรู้หรือเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดแล้วพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุปหลักพิจาณา

1.การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม จนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่า การใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน

2.หากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรงการใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนการใส่ความที่เป็นถ้อยคำหรือข้อความอันจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็มิใช่จะพิจารณาหรือวัดจากความรู้สึกของผู้ถูกใส่ความเป็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลจะมีที่มาจากความเห็นแก่ตนเองของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป

3.การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่วๆ ไป เป็นเกณฑ์ที่จะให้รับฟังว่าเป็นหมิ่นประมาทตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 หรือไม่

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4  (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ

Facebook Comments