ระยะร่นของบ้านหรืออาคารต่างๆ ตามกฎหมาย ต้องมีระยะเท่าใด
การสร้างบ้านหรืออาคารใดตามกฎหมายนั้น จำเป็นจะต้องเว้นระยะร่นไว้ตามกฎหมายและเพื่อความปลอดภัยของเจ้าของอาคารและผู้อาศัยในที่ค้างเคียงในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยทางด้านอัคคีภัย แผ่นดินไหว หรืออุบัติเหตุในท้องถนนที่อาจจะส่งผลต่ออาคารได้ ซึ่งได้มีกฎหมายกำหนดระยะดังกล่าวไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 โดยได้กำหนดระยะร่นของอาคารต่างไว้ตามกฎหมายดังนี้
1.พื้นที่ว่างภายนอกอาคาร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 33
– กรณีที่อยู่อาศัย ต้องมีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ชั้นที่กว้างที่สุด
– กรณีไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ชั้นที่กว้างที่สุด
1.1.กรณีห้องแถวหรือตึกแถว ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 34
– หากอาคารสูงไม่เกิน 3 ชั้นและไม่ได้ตั้งอยู่ติดกับถนนสาธารณะ ต้องมีที่เว้นว่างหน้าอาคาร อย่างน้อย 6 เมตร
– หากอาคารสูงเกิน 3 ชั้นและไม่ได้ตั้งอยู่ติดกับถนนสาธารณะ ต้องมีที่เว้นว่างหน้าอาคาร อย่างน้อย 12 เมตร
– ต้องมีที่เว้นว่างหลังอาคารอย่างน้อย 3 เมตร
– ทุก ๆ 10 คูหาหรือความยาว 40 เมตร ต้องมีที่เว้นว่างอย่างน้อย 4 เมตร และเป็นช่องตลอดความลึกของที่ดิน
1.2.กรณีบ้านแถวที่ใช้อยู่อาศัย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 36
– บ้านแถวต้องมีที่เว้นว่างด้านหน้าอาคารอย่างน้อย 3 เมตร ด้านหลังอาคารอย่างน้อย 2 เมตร
– ทุก ๆ 10 คูหาหรือความยาว 40 เมตร ต้องมีที่เว้นว่างอย่างน้อย 4 เมตร และเป็นช่องตลอดความลึกของที่ดิน
1.3กรณีบ้านแฝด (ข้อ 37)
– ต้องมีที่เว้นว่างด้านหน้าอาคารอย่างน้อย 3 เมตร
– ต้องมีที่เว้นว่างด้านหลังและด้านข้างอาคารอย่างน้อย 2 เมตร
2.ระยะร่นและที่เว้นว่างของอาคาร
2.1.กรณีอาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้นหรือ 8 เมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 41 วรรค 1 หากถนนกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ต้องมีระยะร่นจากจุดกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 3 เมตร
2.2.กรณีอาคารสูงเกิน 2 ชั้นหรือ 8 เมตร หรือเป็นอาคารชุด ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 41 วรรค 2
– หากถนนกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ต้องมีระยะร่นจากจุดกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 6 เมตร
– หากถนนกว้างตั้งแต่ 10-20 เมตร ต้องมีระยะร่นจากเขตถนนอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างถนน
– หากถนนกว้างเกิน 20 เมตร ต้องมีระยะร่นจากเขตถนนอย่างน้อย 2 เมตร
3.กรณีอาคารอยู่ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 42
– หากแหล่งน้ำกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ต้องมีระยะร่นจากเขตแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 3 เมตร
– หากแหล่งน้ำกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องมีระยะร่นจากเขตแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 6 เมตร
– หากเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น บึง ทะเลสาบ หรือทะเล ต้องมีระยะร่นจากเขตแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 12 เมตร
สรุป ระยะร่นและพื้นที่ว่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายบังคับให้ต้องเว้นระยะไว้โดยเจ้าของที่ดินจะเว้นระยะร่นให้มากกว่าที่ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) บัญญัติไว้ก็ได้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารและผู้อยู่ในที่ดินข้างเคียง
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th