เกิดอุบัติเหตุลงบันทึกประจำวันตกลงค่าเสียหายกับคู่กรณีกันแล้ว บริษัทประกันสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนได้พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 463 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 15,293 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 15,293 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 14,830 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 14,830 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยถึงวันที่ 8 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 463 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 เวลา 15 นาฬิกา จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อออกจากข้างทางอย่างกะทันหันโดยไม่ตรวจสอบว่ามีรถคันอื่นแล่นผ่านมาหรือไม่ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขกข พะเยา 384 ซึ่งนายเพ็ง เป็นผู้ขับขี่ โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ ทำให้นายเพ็ง ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลพะเยารามและรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2554 โรงพยาบาลพะเยารามยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลของนายเพ็งในฐานะเป็นผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จำนวน 14,830 บาท โจทก์ชำระไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 ตามใบคำร้องขอค่าเสียหายพร้อมใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงิน โจทก์ถึงทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่หลังเกิดเหตุจำเลยได้ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเพ็ง 40,000 บาท ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีลงวันที่ 16 เมษายน 2554 ต่อมาจำเลยผิดนัด นายเพ็งจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นและทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 655/2554 ของศาลชั้นต้น ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอม นอกจากนี้จำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดพะเยาฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญา สำเนาคำแถลงขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและคำพิพากษาคดีอาญา
คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า หลังเกิดเหตุนายเพ็งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพะเยาราม โรงพยาบาลพะเยารามจึงยื่นคำร้องแทนนายเพ็งขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อโจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นไปแล้ว จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตาม มาตรา 31 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มิใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิ ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยตกลงจ่ายเงิน 40,000 บาท ให้แก่นายเพ็งตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ปรากฏว่าวันที่ 14 มีนาคม 2554 โรงพยาบาลพะเยารามซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่รักษานายเพ็งยื่นคำร้องขอให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น วันที่ 26 มีนาคม 2554 โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โรงพยาบาลพะเยาราม ต่อมาวันที่ 16 เมษายน 2554 จำเลยจึงได้ตกลงใช้ค่าเสียหายแก่นายเพ็ง 40,000 บาท ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเสียหาย นายเพ็งจึงฟ้องจำเลยเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว และวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินแก่นายเพ็ง จึงถือได้ว่าจำเลยทราบว่าโจทก์ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลอันเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่โรงพยาบาลพะเยารามแล้ว ก่อนที่จำเลยและนายเพ็งจะตกลงค่าเสียหายกันตามบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ค่าเสียหายที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่นายเพ็งจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไป ถือเป็นค่าเสียหายเพิ่มเติมในทางแพ่งที่นายเพ็งมีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้อีกส่วนหนึ่งต่างหากตาม มาตรา 22 ไม่ทำให้ค่าเสียหายเบื้องต้นของนายเพ็งที่โจทก์ชำระแทนไปก่อนระงับไป ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลย ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 โจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาล พ. อันเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มิใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิ ส่วนค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท ที่จำเลยตกลงจ่ายแก่ พ. ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้นเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ค่าเสียหายที่จำเลยตกลงจ่ายแก่ พ. จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไป ถือเป็นค่าเสียหายเพิ่มเติมในทางแพ่งที่ พ. มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ตามมาตรา 22 ไม่ทำให้ค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์จ่ายแทนไปก่อนระงับไป โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจากจำเลยได้
สรุปสั้น
แม้ตกลงค่าเสียหายกันแล้ว ถือเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น ค่าเสียหายที่เพิ่มเติมมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ย
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th