ทำประกันชีวิตทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นมะเร็ง บริษัทประกันปฏิเสธความรับผิดได้หรือไม่
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 578,049 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 516,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย แบบกรมธรรม์ประกันภัยอยุธยาตลอดชีพคลาสสิค มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2545 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2596 จำนวนเงินเอาประกันภัยคุ้มครองมรณกรรม 500,000 บาท และมีสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพสำหรับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลต่อการเข้ารักษาพยาบาลครั้งใดครั้งหนึ่งจำนวน 30,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 ผู้ตายเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลปิยะเวทเสียค่ารักษาพยาบาล 16,400 บาท ผู้ตายเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจำนวนดังกล่าว จำเลยแจ้งว่ายังไม่สามารถพิจารณาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ตายได้ เนื่องจากต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา ต่อมาวันที่ 13 เมษายน 2546 ผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจมน้ำตามมรณบัตร วันที่ 17 เมษายน 2546 จำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตโดยอ้างว่าผู้ตายเคยมีประวัติการพบแพทย์เพื่อรักษา และ/หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพมาก่อนขอทำประกันชีวิต แต่มิได้แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบ สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตแล้ว ตามหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิต วันที่ 25 เมษายน 2546 โจทก์ทั้งสองเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีมรณกรรม วันที่ 30 เมษายน 2546 จำเลยมีหนังสือยืนยันการบอกล้างสัญญาประกันชีวิต
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ผู้ตายไม่รู้ว่าตนเข้ารับการผ่าตัดด้วยโรคมะเร็งลำไส้เนื่องจากญาติของผู้ตายขอให้แพทย์ที่ทำการรักษาไม่เปิดเผยโรคที่แท้จริงให้ผู้ตายทราบ เพราะผู้ตายเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคจิตเภทมีความวิตกกังวลเกินกว่าปกติ ผู้ตายไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงอันจะเป็นเหตุให้จำเลยยกขึ้นเป็นข้ออ้างบอกล้างสัญญาประกันชีวิตได้ ในปัญหาข้อนี้จำเลยมีนางพัชรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสินไหม มีหน้าที่พิจารณาการเรียกร้องค่าสินไหมจากผู้เอาประกันภัยเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อผู้ตายเรียกร้องค่าสินไหมสุขภาพกรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำเลยตรวจสอบประวัติการรักษาตัวของผู้ตายเพื่อประกอบ การพิจารณา พบว่าผู้ตายได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 ผลการตรวจระบุว่า ผู้ตายมีน้ำตาลสูงกว่าปกติเล็กน้อย มีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ ตับทำหน้าที่ผิดปกติเล็กน้อย แพทย์แนะนำให้ผู้ตายควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจการทำงานของตับทุก 3 ถึง 6 เดือน และตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 ผู้ตายเข้าตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พบว่ามีโลหิตจาง เม็ดเลือดแดงผิดปกติ และมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ ผู้ตายรับการผ่าตัดลำไส้ ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2545 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 นอกจากนี้ผู้ตายเคยได้รับการรักษาอาการทางจิตเภทมาเป็นเวลา 3 ปี ผู้ตายขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ตามคำขอเอาประกันภัยโดยให้ถ้อยคำเกี่ยวกับสุขภาพ ข้อ 13.3 ในเรื่องโรคซีด ข้อ 13.5 เรื่องตับ ข้อ 13.12 เรื่องมะเร็ง ข้อ 13.13 เรื่องภาวะเครียด ความผิดปกติโรคประสาท ข้อ 15 เกี่ยวกับการนอนในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน การตรวจด้วยวิธีพิเศษ การเข้ารับการผ่าตัด และข้อ 16 ที่ต้องแจ้งรายละเอียดในเรื่องการรับการรักษา ผู้ตายทำเครื่องหมายในช่องว่า ไม่เคยและไม่มี และให้ถ้อยแถลงกับแพทย์ ข้อ 4 ข. เกี่ยวกับโรคจิต โรคทางสมองหรือระบบประสาทว่าไม่เคย ข้อ 4 จ. อาการเกี่ยวกับตับ ข้อ 4 ซ. เรื่องโรคมะเร็ง ข้อ 5 เรื่องประวัติการรักษาในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องการผ่าตัดหรือการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ โดยทำเครื่องหมายว่าไม่เคย การตรวจสุขภาพเป็นสาระสำคัญในการพิจารณารับประกันภัย หากจำเลยทราบจะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่รับประกันภัย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2546 จำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตโดยอ้างว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2546 โจทก์ทั้งสองเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีผู้ตายเสียชีวิตจากการจมน้ำ วันที่ 30 เมษายน 2546 จำเลยมีหนังสือยืนยันการบอกล้างสัญญาประกันชีวิต และจำเลยมีนายแพทย์อรุณ ผู้ทำการผ่าตัดลำไส้ของผู้ตายเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 นายแพทย์เสถียร ปรึกษากับพยานว่าส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ของผู้ตายพบมะเร็งที่ลำไส้ จึงส่งตัวมาให้พยานทำการผ่าตัดในวันที่ 1 สิงหาคม 2545 จากการตรวจชิ้นเนื้อพบว่าผู้ตายเป็นมะเร็งขั้นที่ 2 พยานให้ผู้ตายกลับบ้านในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ส่วนโจทก์ทั้งสองมีนางสาวจินณ์เกษม ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสองเป็นพยานเบิกความว่า ผู้ตายยื่นคำขอเอาประกันภัยก่อนเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ การตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นการตรวจร่างกายประจำปี ผลการตรวจผู้ตายปกติ แต่ผู้ตายมีอาการอ่อนเพลียแพทย์จึงตรวจเพิ่มเติมพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ในระยะเริ่มต้น ต้องรับการผ่าตัด พยานไม่ได้บอกผู้ตายว่าผู้ตายเป็นมะเร็ง แต่บอกว่าผ่าตัดลำไส้เพราะเหตุลำไส้ทะลุ และมีนายแพทย์เกรียงไกร เป็นพยานเบิกความว่าพยานเป็นพี่ชายผู้ตายและเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลปิยะเวท เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 ผู้ตายไปตรวจที่โรงพยาบาลปิยะเวทเนื่องจากมีอาการท้องผูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผู้ตายเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2545 เนื่องจากเป็นมะเร็งลำไส้ในระยะเริ่มต้น แพทย์ไม่ได้แจ้งให้ผู้ตายทราบ คงมีแต่พยานและนางสาวจินณ์เกษมเท่านั้นที่ทราบว่าผู้ตายเป็นมะเร็ง หลังจากนั้น 6 เดือน ผู้ตายมาตรวจที่โรงพยาบาลปิยะเวทด้วยวิธีเจาะเลือดและตรวจโดยคอมพิวเตอร์ ผลการตรวจไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็งในช่องท้องของผู้ตาย เห็นว่า จำเลยมีเวชระเบียนประวัติการรักษาและรายงานผลการตรวจสุขภาพของผู้ตายซึ่งเป็นพยานหลักฐานว่าผู้ตายเคยเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 และวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 โดยเฉพาะการตรวจเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 เป็นการตรวจเพราะผู้ตายมีอาการซีด โลหิตจาง เม็ดเลือดแดงผิดปกติ และอ่อนเพลีย เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายของผู้ตายเพิ่มเติมก็พบว่าผู้ตายเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ นายแพทย์อรุณ ผู้ดำเนินการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ผู้ตายเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็นในการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งลำไส้ของผู้ตาย โดยมีเวชระเบียนประวัติการรักษาและรายงานผลการตรวจสุขภาพของผู้ตายเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนและไม่ปรากฏว่านายแพทย์อรุณมีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความคลาดเคลื่อนต่อความจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลย ทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยว่าผู้ตายไม่เคยเข้ารับการตรวจร่างกายก่อนมาขอทำประกันชีวิตกับจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักรับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายเคยมีประวัติการพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และ/หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพภายในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาก่อนหน้ามาขอทำประกันชีวิตกับจำเลย ผู้ตายยื่นคำขอเอาประกันชีวิตเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่ผู้ตายออกจากโรงพยาบาล รูปคดีน่าเชื่อว่าขณะที่ผู้ตายยื่นคำขอทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ผู้ตายทราบอยู่แล้วว่าตนเข้ารับการตรวจรักษา และ/หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาก่อนหน้ามาขอทำประกันชีวิตกับจำเลย แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวเพราะอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้แก่ตน สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 จำเลยมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตได้ เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประโยชน์ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2546 สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตและสุขภาพเพราะผู้ตายให้แพทย์ซึ่งจำเลยแต่งตั้งตรวจสุขภาพของผู้ตายก่อนทำสัญญาแล้วแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้ตายได้ตรวจพบและทำบันทึกรอยแผลบนร่างกายของผู้ตายไว้ในรายงานการตรวจสุขภาพ ซึ่งระบุว่าพบรอยแผลผ่าตัดบริเวณหน้าอกด้านขวา นอกจากนี้การตรวจร่างกายผู้ตายก็ทำหลังจากที่ผู้ตายได้รับการผ่าตัดลำไส้จากโรคมะเร็งบริเวณช่องท้องเพียง 20 วัน รอยแผลผ่าตัดยังเป็นแผลสดไม่หายดี ดังนั้น แพทย์ของจำเลยย่อมต้องรู้ข้อความจริงเรื่องประวัติการที่ผู้ตายเคยพบแพทย์เพื่อการรักษาหรือควรจะรู้เช่นนั้นได้ สัญญาประกันชีวิตและสุขภาพของผู้ตายจึงสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 866 นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพที่ผู้ตายทำกับจำเลย ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาได้เพราะให้แพทย์ของจำเลยตรวจสุขภาพผู้ตายแล้วเห็นว่าเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาสุขภาพที่ขัดต่อการรับประกันภัยจึงรับประกันภัยโดยมิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับประวัติการรักษาตามที่ฎีกามา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป ขณะที่ผู้ตายยื่นคำขอทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย ผู้ตายทราบอยู่แล้วว่าตนเข้ารับการตรวจรักษา และหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาก่อนหน้ามาขอทำประกันชีวิตกับจำเลย แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวเพราะอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้แก่ตน สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 จำเลยมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตได้ เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประโยชน์ สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @