สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า เมื่อผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิตเงินประกันชีวิตจะตกแก่ทายาทของผู้เอาประกันหรือทายาทของผู้รับผลประโยชน์ หรือมีผลอย่างไรเชิญอ่านได้เลยครับ

สำหรับผู้ที่มีชื่อในกองมรดกที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ ได้แก่ ทายาทโดยธรรม ซึ่งมี 6 ลำดับชั้น ได้แก่

1.บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรม
2.พ่อแม่
3.พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน
4.พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่
5.ปู่ ย่า ตา ยาย
6.ลุง ป้า น้า อา

ซึ่งกรณีที่ไม่ระบุผู้รับประโยชน์จะมีโอกาสเกิดปัญหากับผู้ที่อยู่ข้างหลัง เช่น แย่งผลประโยชน์จนถึงขั้นฟ้องร้อง หรือในกองมรดกอาจมีคนที่ไม่ต้องการยกผลประโยชน์ให้รวมอยู่ด้วย ดังนั้น ผู้ทำประกันควรระบุผู้รับประโยชน์ให้เรียบร้อย

โดยทั่วไปบริษัทประกันจะให้ผู้ทำประกันและผู้รับผลประโยชน์ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือทางกฎหมาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการฆาตรกรรมผู้ทำประกันเพื่อหวังเงินประกัน

ผู้ทำประกันสามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ จะระบุเพียงหนึ่งคน หรือมากกว่าก็ได้ ถ้ามากกว่าหนึ่งคนก็ระบุสัดส่วนของการรับผลประโยชน์แต่ละคนได้ แต่ถ้าไม่ระบุ บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ในจำนวนที่เท่ากัน

ปัญหาเกิดกรณีผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้ทำประกัน ผู้ทำประกันสามารถทำการเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ได้ แต่ถ้าไม่ทำและหากผู้ทำประกันเสียชีวิต ผลประโยชน์จะตกสู่กองมรดกหรือทายาทของผู้ทำประกัน  

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554

ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย
แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก

กล่าวโดยสรุป

“เงินประกันชีวิต”ไม่ใช่ทรัพย์ของผู้ตายที่มีอยู่ก่อน ขณะ ถึงแก่ความตาย การทำประกันชีวิตนั้น ผู้เอาประกันภัยได้แสดงเจตนารมย์ยกให้ผู้อื่นตั้งแต่ต้นย่อมไม่ใช่ทรัพย์ของตน เพราะการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตมีเงื่อนไขการใช้เงินโดยอาศัยการตาย จำนวนเงินเอาประกันภัยที่บริษัทจะจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ที่มีชื่อระบุไว้ในกรมธรรม์ ย่อมตกเป็นของผู้รับประโยชน์ทันทีที่ผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย
เงินประกันชีวิตไม่ใช่กองมรดก จึงไม่สามารถจะฟ้องร้องเอาได้ ดังนั้นเมื่อผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต เงินประกันชีวิตจะตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย มิใช่ทายาทของผู้รับผลประโยชน์

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935

 

 

 

 

Facebook Comments