สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า ผู้รับประกันภัยจะเข้ารับช่วงสิทธิให้เสื่อมสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้หรือไม่ หรือมีผลอย่างไร ต่อเนื่องจากบทความการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้รับประกันภัย เชิญอ่านได้เลยครับ

หลักว่าด้วยการรับช่วงสิทธิ (Principle of subrogation)

เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้โดยมีบุคคลภายนอกเป็นผู้ก่อภัย ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ 2 ทาง คือ

1. เรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย
2. ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย ถือเป็นสิทธิที่เกิดโดยผลของกฎหมาย
ถ้าผู้เอาประกันเรียกทางใดทางหนึ่งก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าใช้สิทธิเรียกร้องทั้ง 2 ทาง ก็จะได้รับการชดใช้ความเสียหาย 2 ครั้ง ขัดกับหลักการประกันวินาศภัยในฐานะที่เป็นสัญญาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งถ้าผู้เอาประกันภัยได้รับชำระจากผู้ทำละมิดจนครบจำนวนแล้ว จะถือว่าผู้เอาประกันภัยมีความเสียหายอีกต่อไปไม่ได้ ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหากำไรของผู้เอาประกันภัยที่ไม่สุจริต จึงเกิดหลักเกณฑ์การรับช่วงสิทธิคุ้มครองผู้รับประกันภัยไว้ในกฎหมาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช

มาตรา 880 ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

ผลของการรับช่วงสิทธิ

1. ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้ละเมิด ผู้รับประกันคิดดอกเบี้ยนับแต่วันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป

2. ผู้รับประกันใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ละเมิดได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5066/2560

เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วโจทก์ย่อมได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยและโจทก์ยังเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยทั้งสองในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานตำรวจติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์แล้ว ถือได้ว่ารถยนต์พิพาทที่โจทก์ได้รับคืนมาเป็นการบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป โจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะจำหน่ายรถยนต์พิพาทไปได้ แต่เมื่อโจทก์ได้รับเงินจากการจำหน่ายน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ประมูลขายไปเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสองแล้ว

กล่าวโดยสรุป

ผู้รับประกันภัยจะเข้ารับช่วงสิทธิให้เสื่อมสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ไม่ได้ กล่าวคือ ผู้รับประกันภัยจะรับช่วงสิทธิเพียงเท่าที่ตนได้จ่ายไป ส่วนที่เหลือนั้นผู้เอาประกันภัยและหรือผู้รับประโยชน์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีจากบุคคลภายนอกเองได้ฐานละเมิดตามมาตรา 420

iber.me/tanai-athip

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935

 

 

 

 

Facebook Comments