สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า ในการฟ้องร้อง/ต่อสู้คดีประกันภัยหากไม่มีในคำฟ้อง/สู้ในคำให้การในศาลชั้นต้นสามารถยกขึ้นสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2561
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 450,000 บาท และ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 251,335 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 26,482 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 ธันวาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 120,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเป็นผู้รับประกันรถกระบะ หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ข-2017 ชลบุรี ของจำเลยที่ 1 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อด้วยการขับรถเลี้ยวกลับไปฝั่งตรงข้ามอย่างกะทันหัน ทำให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ขยว ชลบุรี 144 คันที่โจทก์ที่ 1 ขับโดยมีโจทก์ที่ 2 นั่งซ้อนท้ายมาด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บกระดูกขวาส่วนต้นหัก เอ็นด้านในเข่าขาด ต้องผ่าตัดยึดกระดูกด้วยเหล็กภายในใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน และโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลถลอกฟกช้ำที่ขาสองข้าง กับแผลอักเสบมีเลือดคั่งที่ขาขวาใช้เวลารักษาประมาณ 1 เดือน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 251,335 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 26,482 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าขาดรายได้เป็นเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และค่าขาดรายได้เป็นเงิน 15,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ เนื่องจากคดีส่วนของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 2 คงมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เฉพาะคดีในส่วนของโจทก์ที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เลือกที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่ 2 มาตั้งแต่ต้น แต่กลับเลือกให้บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัทเจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล เพราะโจทก์ที่ 1 ต้องการนำค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 2 อีกทางหนึ่ง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า แม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 จะบัญญัติไว้ว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” แต่มาตรา 6 ก็ได้บัญญัติต่อไปว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ในคำให้การ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่ 2 นั้น ชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่บริษัทที่รับประกันภัยวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นการคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่บริษัทที่รับประกันภัยวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่ 1 อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะนำข้อเท็จจริงที่ได้ความจากชั้นพิจารณามาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในประเด็นข้อพิพาทตามคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” แต่มาตรา 6 ก็บัญญัติต่อไปว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
ในการยื่นคำให้การ จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
สรุปต้องว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ber.me/tanai-athip