ข้อต่อสู้ในคดี การดัดแปลงอาคารและให้รื้อถอนอาคาร ศาลฎีการับฟังจากหลักสู้ใดบ้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ 2736/2537
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคารเลขที่ 40 ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาต และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เอง ตามมาตรา 40 และ 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคาร เลขที่ 40 ซอยมหาพฤฒาราม (ซอยเฟร์เซอร์แอนด์นีฟ) ถนนมหานคร แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่งที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนอาคารดังกล่าวให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามมาตรา 40 และ 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองดังต่อไปนี้
ข้อแรกจำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ระบุให้ใครเป็นผู้ดำเนินคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเพทมหานครมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการ แทนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ประกอบกับคดีนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยพลตรีจำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ฟ้องคดีเองโดยมิได้มอบอำนาจให้ผู้ใดฟ้องแทน จึงไม่จำต้องมีใบมอบอำนาจดังนั้นฎีกาจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลจะรับฟังเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้ เพราะมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรเห็นว่าเมื่อเอกสารดังกล่าวไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี จึงไม่จำต้องปิดอกกรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า จำเลยมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้จึงชอบแล้ว
สำหรับปัญหาข้อที่สอง จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองทำละเมิด แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการฝ่ายฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ดังนี้ไม่ใช่ฟ้องเรื่องละเมิด แม้โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 1 ปี คดีก็ยังไม่ขาดอายุความฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือคำสั่งของผู้อำนวยการเขตบางรักตามเอกสารหมาย จ.7, จ.8, จ.14 และจ.15 ที่สั่งให้จำเลยระงับการดัดแปลงอาคารและให้รื้อถอนอาคาร เพราะลายมือชื่อผู้รับเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ตามในตอบรับเอกสารหมาย จ.9, จ.10, จ.16 และ จ.17 ได้มีการส่งเอกสารดังกล่าวข้างต้นไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองและมีลายมือชื่อจำเลยดังที่จำเลยอ้างก็ต้องฟังว่ามีผู้รับแทนไว้แล้วคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือเอกสารดังกล่าวแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน
(นาม ยิ้มแย้ม – สุรินทร์ นาควิเชียร – จรัญ หัตถกรรม)
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th