สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่ารถยนต์สูญหายเสียหายจากการถูกฉ้อโกง บริษัทประกันภัยปฏิเสธความรับผิดได้หรือไม่
#คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2558
สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้คำนิยาม วินาศภัย ว่า ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้ การที่โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยตามสัญญา จำเลยตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ในข้อ 2.1 ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำเลยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยเป็นความรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ข้อ 5 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่ทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ที่จำเลยฎีกาว่ารถสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิด วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการฉ้อโกงดังที่จำเลยฎีกา จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 4 ความรับผิดของบริษัทเมื่อมีการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน กำหนดว่า เมื่อมีการเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทและหากบริษัทปฏิเสธความรับผิดไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามจนเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล หากศาลพิพากษาให้บริษัทแพ้คดี บริษัทจะต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้เสียหายนั้น โดยชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยในฐานะลูกหนี้ผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด เห็นว่า ความรับผิดของผู้รับประกันภัยในกรณีที่ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกและผู้เอาประกันภัยได้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วจึงจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามข้อสัญญานี้ดังที่จำเลยฎีกามา เมื่อข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีผิดสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของค่าเสียหายได้นับแต่วันผิดนัด มิใช่บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความรับผิดของจำเลยดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สรุป แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยเป็นความรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 869iber.me/tanai-athip
สำนักงานทนายฟ้องประกันมีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935