สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จะมาขอแนะนำประเด็นข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยฉ้อฉลมีผลอย่างไร เชิญอ่านได้เลยครับ
การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยฉ้อฉล บริษัทไม่ต้องรับผิดสําหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการฉ้อฉลหรือทุจริตโดยประการใดๆ ซึ่งผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่ทําแทนผู้เอาประกันภัยได้กระทําเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ และบริษัทอาจใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ทันที โดยไม่คืนเบี้ยประกันภัย
ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานโดยชัดแจ้งว่าผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่ทําแทนผู้เอาประกันภัย หรือผู้ที่มาทําการ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต หรือมีการปกปิดข้อความจริงที่ต้อง แจ้งให้รู้ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือผลประโยชน์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทํา ความผิดตามมาตรา 108/4 หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 108/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 แล้วบริษัทอาจใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ทันที โดยไม่คืนเบี้ยประกันภัยได้ ทั้งนี้ บริษัทต้องดําเนินการตามกฎหมาย และ/หรือ กฎระเบียบที่เก่ียวข้องกับการฉ้อฉลประกันภัย เช่น การแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การฟ้องคดีอาญา เป็นต้น
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562
เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต
มาตรา 108/4 ผู้ใด เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง
ในมาตรา 108/4 วรรคแรก เป็นเรื่องของบุคคลใดๆ คือใครก็แล้วแต่ ทำการเรียกร้องค่าสินไหมหรือการเคลมโดยทุจริต ซึ่งคำว่าโดยทุจริต ไม่มีคำนิยามในกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็จะใช้คำว่าโดยทุจริต จากประมวลกหมายอาญา
มาตรา 1(1) หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ตัวอย่าง เช่น การกระทำตามมาตรา 347 ประมวลกฎหมายอาญาก็เขียนไว้เหมือนกัน ว่า ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในมาตรา 347 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตามมาตรา 348 จึงทำให้บุคคลที่ทุจริตเคลม ไม่ได้เกรงกลัวอะไรมากมายกับมาตรา 347 จึงเกิดการแก้กฎหมายฉบับนี้ขึ้น
ตัวอย่างการ ทุจริตเคลม เช่น จัดฉากให้รถชนกัน โดยไม่มีการชนกันจริง,รถชนกันไม่มีประกันภัย จัดให้มีประกันภัยย้อนหลังเพื่อให้ บ.ประกันภัยรับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมทดแทน
ที่ผมพบเองกับตัว ตกต้นไม้ขาหักพามาสวมว่ารถคันทำประกันชน และ สุนัขกัดเด็กนำมาสวมว่ารถประกันชน เป็นต้น ซึ่งในอดีตและปัจจุบันก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ถ้าบ.ประกันจับผิดได้ ส่วนใหญ่จะขอยกเลิกเคลม แยกย้ายทางใครทางมัน จบ อย่างมากที่สุดบ.ประกันก็ยกเลิกกรมธรรม์คืนเบี้ย และขึ้นบัญขีดำไว้เท่านั้น
ในมาตรา 108/4 วรรคสอง เป็นเรื่องที่มีคนสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดตามวรรคแรก ถ้าเราดูในกำหมายอาญา ผู้สนับสนุนต้องรับโทษ 2 ใน 3 ส่วนของฐานความผิดนั้นๆ แต่ในกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติให้ผู้สนับสนุนต้องรับโทษเท่ากับตัวการ พูดง่ายๆ ทำให้คนที่มีส่วนร่วมสนับัสนุนไม่ว่าในทางใดต้องรับโทษเท่ากันหมด คือมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
กล่าวโดยสรุป
“การเจตนา จงใจ ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพื่อหวังเงินประกันภัยไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะนอกจากบริษัทประกันภัยจะอ้างเหตุไม่จ่ายเงินเอาประกันภัยแล้ว หากการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลการประกันภัย ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญาทั้งจำคุกและ/หรือปรับอีกด้วย
iber.me/tanai-athip