Home บทความคดีแพ่ง แจกหนังสือพิมพ์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท ถือเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

แจกหนังสือพิมพ์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท ถือเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

954

แจกหนังสือพิมพ์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท ถือเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 332, 83, 91 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาของศาลลงในหนังสือพิมพ์เบาะแสจำนวน 6 ฉบับ ติดต่อกัน และในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นอีก 7 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด บ้านเมือง สยามรัฐ และคมชัดลึก เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ให้จำเลยทั้งสี่ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นตามที่โจทก์เป็นผู้กำหนดโดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 คนละ 3 กระทง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 รวม 2 กระทง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 3 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 กระทงละ 1 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 2 เดือน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาของศาลลงในหนังสือพิมพ์เบาะแส จำนวน 6 ฉบับ ติดต่อกัน ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์ ฉบับละ 7 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์เบาะแสให้ได้ครบ 6 ฉบับ ก็ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์มติชน เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกันแทน โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นสามีของนางศุลีพร ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทพี.เค.การ์ด ทรานสปอร์ต แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ที่เข้าบริหารจัดการรถตู้สาย ต.63 ตั้งแต่ปี 2545 โดยได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้แล่นรับคนโดยสารจากศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี ถึงซอยลาซาล จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์เบาะแส จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เบาะแส จำเลยที่ 3 รับราชการทหาร จำเลยที่ 4 เคยเป็นลูกจ้างของบริษัทพี.เค.การ์ด ทรานสปอร์ต แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ถึงจเรตำรวจแห่งชาติ เรื่องขอให้ดำเนินการกับมาเฟียรถตู้รังสิต นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เบาะแส ฉบับที่ 66/2548 พิมพ์ข้อความว่า “โค่นนายพล ป.มาเฟียรถตู้รังสิต – สำโรง …จากการที่กลุ่มฯ เบาะแสได้รับร้องเรียนจากผู้รับขนส่งผู้โดยสารจากรังสิตไปยังสำโรง ต้องถูกข้าราชการนอกราชการที่กระทำตัวเป็นมาเฟียรถตู้ พร้อมทั้งเมีย หรือที่เรียกว่าเป็นมาเฟียทั้งครอบครัว ก็ไม่ผิด …ไม่รู้ว่านายพล ป. เก็บค่าส่วยคุ้มครองมาตลอด 8 ปี …นายพล ป. ผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำนาบนหลังคนเก็บส่วย…” หนังสือพิมพ์เบาะแส ฉบับที่ 67/2548 พิมพ์ข้อความว่า “มาเฟียรถตู้หรือทำนาบนหลังคน…กลุ่มมาเฟียรถตู้ที่ยืมมือนายพล ป… เป็นผู้ดูแลวินรับผลประโยชน์จากส่วย ต้องถูกข้าราชการนอกราชการที่กระทำตัวเป็นมาเฟียรถตู้พร้อมทั้งเมีย หรือที่เรียกว่าเป็นมาเฟียทั้งครอบครัว ก็ไม่ผิด …ไม่รู้ว่านายพล ป. เก็บค่าส่วยคุ้มครองมาตลอด 8 ปี …นายพล ป. ผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำนาบนหลังคนเก็บส่วย…” หนังสือพิมพ์เบาะแส ฉบับที่ 68/2548 พิมพ์ข้อความว่า “หลักฐานการรับเงินค่าคุ้มครอง …นายพล ป. มาเฟียรถตู้ …เมื่อนายพล ป.รังแกประชาชนชาวรถตู้เก็บค่าคุ้มครอง…เป็นการทำนาบนหลังคน อาศัยคราบคนมีสีบังคับขู่เข็ญ…” สำหรับความผิดของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ 2.4 ความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามฟ้องข้อ 2.5 ความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามฟ้องข้อ 2.6 และฟ้องข้อ 2.7 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่มีความผิดตามฟ้องข้อดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา ความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามฟ้องข้อดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องข้อ 2.1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า หนังสือร้องเรียน ระบุเรื่องร้องเรียนว่า ขอให้ดำเนินการกับมาเฟียรถตู้รังสิต ทั้งมีใจความขอให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบขบวนการมาเฟียที่เก็บค่าคุ้มครองจากกิจการรถตู้สาย ต.63 โดยมีการแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมรถตู้สาย ต.63 ที่แล่นนอกเส้นทาง จากนั้นระบุชื่อโจทก์ว่าเป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อให้ไปตกลงที่ กอ.รมน. และระบุว่าทำให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์มีส่วนได้เสียกับรถตู้วินนี้ เมื่อสรุปเนื้อหาใจความสามารถเข้าใจได้ว่า เป็นการร้องเรียนว่าโจทก์มีพฤติการณ์เป็นมาเฟียรถตู้รังสิตคือรถตู้สาย ต.63 นั่นเอง คำว่า มาเฟีย เป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ แต่นำมาใช้แพร่หลายในประเทศไทยทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน ซึ่งมีความหมายในทางไม่ดี เช่น เป็นมิจฉาชีพ ผู้มีอิทธิพลหรืออาชญากร จึงเท่ากับเป็นการร้องเรียนว่าโจทก์เป็นผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจข่มขู่ เรียกเงินจากผู้ประกอบกิจการรถตู้สายดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมายมีหน้าที่หลักในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายโดยตรง ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการร้องเรียนเพื่อมุ่งประสงค์ที่จะให้ดำเนินการต่อโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบได้ความว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องเก็บค่าคุ้มครอง แต่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการมอบหมายให้บริษัทพี.เค.การ์ด ทรานสปอร์ต แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จัดเก็บค่าบริหารจัดการและหาสถานที่จอดรถแห่งใหม่ โดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญหรือใช้อิทธิพลใด ๆ ข่มขู่ผู้ประกอบการ และไม่มีกรณีที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนโจทก์ตามหนังสือร้องเรียนดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ต่อไปว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามฟ้องข้อ 2.6 และ 2.7 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีนางวาสนา เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 4 นำหนังสือพิมพ์เบาะแส ฉบับที่ 66/2548 เกือบ 10 ฉบับ ไปแจกที่ร้านค้าของนางวาสนา โดยร้านค้าของนางวาสนาอยู่ใกล้บ้านพักของโจทก์เป็นเหตุให้นางศุลีพรได้รับแจกหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวจากร้านค้าของนางวาสนา โดยนางวาสนาดูภาพถ่ายของจำเลยที่ 4 แล้วยืนยันว่า เป็นบุคคลที่นำหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวไปแจก พยานดังกล่าวไม่เคยรู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 4 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 4 เชื่อว่าเบิกความตามที่เป็นจริง โดยโจทก์และนางศุลีพรเบิกความสนับสนุน อีกทั้งโจทก์มีนายสมชาย เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 4 นำหนังสือพิมพ์เบาะแส ฉบับที่ 66/2548 เกือบ 10 ฉบับ ไปแจกให้แก่คนขับรถตู้สาย ต.63 ที่บริเวณหน้ากรมการขนส่งทางบก พยานปากนี้รู้จักจำเลยที่ 4 มาก่อน เชื่อว่าจำได้ไม่ผิดพลาด ทั้งพยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 4 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 4 เชื่อว่าพยานเบิกความตามที่เป็นจริง ที่จำเลยที่ 4 อ้างตนเองเบิกความลอย ๆ ว่า ไม่ได้ไปแจกหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวทั้งสองแห่งนั้นไม่มีน้ำหนัก นอกจากนี้จำเลยที่ 4 ยอมรับว่า ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ได้มาจากจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 ทราบข้อความหมิ่นประมาทโจทก์แล้ว อีกทั้งการแจกหนังสือพิมพ์ในลักษณะเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามฟ้องข้อ 2.6 และ 2.7 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว

พิพากษายืน

สรุป

การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

 

Facebook Comments