Home คดีครอบครัว หลักเกณฑ์ของการหมั้นตามกฎหมายมีอะไรบ้าง

หลักเกณฑ์ของการหมั้นตามกฎหมายมีอะไรบ้าง

4537

หลักเกณฑ์ของการหมั้นตามกฎหมายมีอะไรบ้าง

การหมั้นระหว่างชายหญิงนั้นตามกฎหมายถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งฝ่ายชายทำกับฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อเป็นสัญญาว่าจะทำการสมรสระหว่างกันในภายหลัง(แต่การสมรสกฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องมีการหมั้นก่อนจึงจะสามารถทำการสมรสได้ ชายและหญิงจึงสามารถทำการสมรสไปเลยทีเดียวก็ได้) โดยการหมั้นมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญอยู่ 2 ประการดังนี้

1.อายุของคู่หมั้นทั้งชายและหญิง

กฎหมายกำหนดอายุของชายหยิงที่จะหมั้นกันได้ต้องมีอายุอย่างต่ำ 17 ปีบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1435 หากมีการหมั้นกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์การหมั้นนั้นย่อมถือเป็นโมฆะตามมาตรา 150 เพราะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังชายหรือหญิงจะมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ แล้วก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้เนื่องจากเป็นดมฆะตามมาตรา172 หากยังประสงค์ที่จะหมั้นกันจะต้องทำการหมั้นใหม่อีกครั้ง และการหมั้นที่ชายหรือหญิงมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จะขออนุญาตทำการหมั้นจากศาลก็ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ต่างจากการสมรสซึ่งหากมีเหตุตามกฎหมายก็ชอบที่จะขออนุญาตศาลได้ หากการหมั้นเป็นโมฆะย่อมถือว่าการหมั้นนั้นเสียเปล่าไม่มีสัญญาหมั้นเกิดขึ้นซึ่งถ้าชายมีการให้ของหมั้นและสินสอดกับฝ่ายหญิง ก็ถือเป็นการกระทำอันปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมายได้ ฝ่ายชายย่อมมีสิทธิเรียกเอาของหมั้นและสินสอดคืนได้ตามหลักลาภมิควรได้(แต่ต้องเป็นกรณีที่ชายไม่รู้ว่าหญิงมีอายุไม่เกิน 17 ปีบริบูรณ์เท่านั้นหากฝ่ายชายทราบอยู่แล้วย่อมถือเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 411 ชายจะไม่มีสิทธิเรียกร้องสินสอดและของหมั้นได้)

2.ความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามมาตรา 1436

มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้

(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

จะเห็นได้ว่ามาตรา 1436 นั้นจะเป็นเหมือนข้อจำกัดที่เพิ่มมากขึ้นจากมาตรา 1435 เพราะนอกจากชายหญิงคู่หมั้นที่จะทำการหมั้นกันต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่หายังเป็นผู้เยาว์อยู่(บุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ หรือบุคคลที่ไม่ได้บรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตามมาตรา 20 ) ก็ยังต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองในการสมรสด้วย

โดยการหมั้นที่ปราศจากความยินยอมดังกล่าวย่อมมีผลเป็นโมฆียะ บุคคลตามมาตรา 175 และ 177 ย่อมมีสิทธิบอกล้างหรือให้สัตยาบันได้ เมื่อบอกล้างแล้วย่อมถือว่าการหมั้นเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่ม แต่หากให้สัตยาบันการหมั้นก็ย่อมสมบูรณ์มาตั้งแต่เริ่ม

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments