Home คดีครอบครัว ข้อต่อสู้เรื่องแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต สามารถยกขึ้นต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่

ข้อต่อสู้เรื่องแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต สามารถยกขึ้นต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่

2290

ข้อต่อสู้เรื่องแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต สามารถยกขึ้นต่อสู้ในศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11119/2558

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา พันเอกสุรพล ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326, 83 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยการบันทึกอักษร หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 1 ปี

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 919 ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ด้านทิศตะวันออกติดที่ดินนางกิ่งแก้ว ด้านทิศใต้ติดลำห้วยสาธารณะ เมื่อปี 2533 ทางราชการได้ตัดถนนสายสระบุรี – ปากยาว ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำให้ที่ดินถูกแบ่งเป็นสองส่วน โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดลำห้วยสาธารณะเป็นที่ดินแปลงเล็กเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดิน ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2550 โจทก์ร่วมได้ซื้อที่ดินของนางกิ่งแก้วซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงเล็กของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว และเมื่อโจทก์ร่วมทราบว่ามีที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ร่วมที่ซื้อมาจากนางกิ่งแก้ว โจทก์ร่วมจึงติดต่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมขาย ต่อมาโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยโจทก์ร่วมอ้างว่าได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางกิ่งแก้ว และถูกจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานที่ดินเข้าไปรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ร่วมครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมคัดค้านและฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์ร่วมคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว และให้โจทก์ร่วมรื้อถอนรั้วและปรับที่ดินให้มีสภาพคงเดิม กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ตามวันเวลาที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเขียนและส่งข้อความลงสื่ออินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บบอร์ดสำนักงานเลขานุการกองบัญชาการทหารสูงสุด ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน เว็บไซต์โทรโข่ง (torakhong.orq) ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน เว็บไซต์ 1111.go.th ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน และเว็บไซต์แคร์แดด (caredad.net) ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ลงข้อความทำนองว่าโจทก์ร่วมใช้อิทธิพลข่มขู่ให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดิน ทำให้จำเลยทั้งสามเดือดร้อนเกรงกลัวต่ออิทธิพลของโจทก์ร่วม มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นมาวินิจฉัย เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำนั้นเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้นและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความอันเป็นการใส่ความโจทก์ในเว็บไซต์ตามฟ้อง เป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปที่หน่วยงานราชการหลายแหล่ง แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมก็ตาม แต่มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายที่ดินให้โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวว่าโจทก์ร่วมเป็นข้าราชการทหารจะใช้อิทธิพลข่มขู่ รังแกจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นชาวบ้านและผู้หญิง จำเลยทั้งสามมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ร่วม อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสามระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสามตลอดจนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามนำข้อความลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยโดยละเอียดและแสดงเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

การที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกข้อต่อสู้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำนั้นเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้นและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันลงข้อความในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมไปที่หน่วยงานราชการหลายแหล่ง แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมก็ตาม แต่มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายที่ดินให้โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวว่าโจทก์ร่วมเป็นข้าราชการทหารจะใช้อิทธิพลข่มขู่ รังแกจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นชาวบ้านและผู้หญิง จำเลยทั้งสามมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ร่วม อีกทั้งการที่จำเลยทั้งสามระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์ร่วมและของจำเลยทั้งสามตลอดจนที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามนำข้อความลงในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments