สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จอดรถยนต์กีดขวางการจราจรแล้วถูกชน บริษัทประกันจะคุ้มครองหรือไม่ เชิญอ่านได้เลยครับ
ผู้ถูกชนและจอดอยู่ในพื้นที่ห้ามจอด แน่นนอนว่ามีความผิดตามตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 57 กำหนดว่า ห้ามผู้ขับขี่จอดรถดังต่อไปนี้
1.บนทางเท้า
2.บนสะพานหรืออุโมงค์
3.ในทางร่วมทางแยกหรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
4.ห้ามจอดในทางข้ามหรือในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม
5.ห้ามจอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ
6.ห้ามจอดรถ ในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง
7.ห้ามจอดรถในระยะ 10 เมตร จากที่ดินตั้งสัญญาณจราจร
8.ห้ามจอดในระยะ 15 เมตรจากทางรถไฟผ่าน
9.ห้ามจอดซ้อนกันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว
10.ห้ามจอดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถหรือในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ
11.ห้ามจอดรถในระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทางหรือในระยะ 10 เมตร นับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง
12.ห้ามจอดรถในที่คับขัน
13.ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทางและให้จอดเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตร
14.ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตรจากตู้ไปรษณีย์
15.ห้ามจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร
ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามทั้ง 15 ข้อ ตามมาตรา 57 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
ขณะเดียวกันผู้ที่ขับไปชนรถคันที่จอด ถ้าคันหน้าจอดอยู่ไม่ว่าด้วยเหตุใด คันที่ไปชนท้ายก็ย่อมมีผิดฐานขับรถโดยประมาท
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 226 บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา 880 ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2098/2541
ศ. ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จอดรถยนต์ในที่เกิดเหตุให้ท้ายรถยนต์ อยู่ในช่องเดินรถ และตามสภาพของที่เกิดเหตุ ศ. สามารถจอดรถยนต์มิให้ขวางทางจราจรเช่นนั้นได้ ซึ่งถือได้ว่าจอดรถยนต์กีดขวางการจราจรนับว่า ศ. มีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยผู้ทำละเมิด การที่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่เป็นบุคคลภายนอกให้รับผิดโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้รับประกันภัยจะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกได้ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่ความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกแสดงว่าบุคคลภายนอกจะต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดวินาศภัยนั้น เมื่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะความผิดของจำเลยและ ศ. ที่ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน กรณีจึงไม่มีความรับผิดของจำเลยที่ศาลจะกำหนดค่าเสียหายให้แก่ ศ. ได้เช่นนี้จำเลยจึงหาได้มีความรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่ ศ. ไม่และผู้เอาประกันภัยและนายจ้างของ ศ. ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดด้วยเช่นกัน โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลย
กล่าวโดยสรุป
จอดรถยนต์กีดขวางการจราจรแล้วถูกชนท้าย บริษัทประกันจะยังคุ้มครองรถยนต์ที่เอาประกันอยู่ แต่จะไม่สามารถรับช่วงสิทธิไปฟ้องผู้ทำละเมิดได้
iber.me/tanai-athip