Home บทความคดีแพ่ง การใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้รับความอับอาย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

การใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้รับความอับอาย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

1244

การใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้รับความอับอาย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ จะมาแนะนำเกี่ยวกับ“ “การใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้รับความอับอาย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา 329 วางหลักไว้ว่า “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

วรรคสอง ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท

  1. ใส่ความผู้อื่น
  2. ต่อบุคคลที่สาม
  3. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
  4. เจตนา

การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการกล่าว “ใส่ความ” “ผู้อื่น” ต่อ “บุคคลที่สาม”

โดยต้องมีบุคคลสามฝ่าย คือ  ผู้กระทำการหมิ่นประมาท (ผู้กล่าวใส่ความ)  ผู้ถูกหมิ่นประมาท (ผู้ถูกใส่ความ)และบุคคลที่สาม (ผู้ที่รับฟัง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2557

ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ร่วมและเคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อน เพียงแต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมแก่บุคคลที่สามด้วยถ้อยคำว่า “ไม่รู้จักโจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมมานั่งเฝ้าจำเลยที่ห้องทุกคืน จนจำเลยต้องไปนอนที่อื่นและมาเฝ้าตั้งแต่เช้า มาเฝ้าถึงที่ทำงานของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นภริยาจำเลย และโจทก์ร่วมมาคอยตามตื๊อจำเลยตลอดเวลา” อันเป็นถ้อยคำที่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้หญิงไม่ดีคอยตามตื๊อจำเลยซึ่งเป็นผู้ชายตลอดเวลา และแอบอ้างเป็นภริยาของจำเลย   แม้คำว่า “ใส่ความ” ตามที่บัญญัติในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้นิยามศัพท์ว่ามีความหมายอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายไว้ว่า หมายถึง การพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เมื่อการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยดังกล่าวเป็นการกล่าวที่ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม และการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวนั้นเห็นได้ชัดว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย อันเป็นการทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วมและทำให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่มีลักษณะไปในทำนองแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

สรุปได้ว่า   การใส่ร้ายผู้อื่นโดยมีมุ่งประสงค์เพื่อให้ได้รับความอับอาย เป็นการทำลายชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 มิได้เป็น       การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมที่จะทำให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา 329 แต่อย่างใด

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
Facebook Comments