Home คดีอาญา รถไม่ได้หายแต่แจ้งตำรวจว่ารถหาย เพื่อนำไปเบิกเงินกับบ.ประกันภัยผิดแจ้งความเท็จหรือไม่

รถไม่ได้หายแต่แจ้งตำรวจว่ารถหาย เพื่อนำไปเบิกเงินกับบ.ประกันภัยผิดแจ้งความเท็จหรือไม่

2940

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173 นับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1769/2557 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ให้นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1769/2557 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะหมายเลขทะเบียน ผม 4709 นครราชสีมา ที่จำเลยขับมา ได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจโท เสนาะ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสีคิ้วซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า มีคนร้ายลักเอารถกระบะดังกล่าว โดยจำเลยขับมาถึงบริเวณริมถนนสายสีคิ้ว – ด่านขุนทด ระหว่างกิโลเมตรที่ 18 ถึง 19 (ใกล้ทางแยกบ้านหนองไม้ตาย) ตำบลวังโรงใหญ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา น้ำมันเชื้อเพลิงหมดไม่สามารถขับต่อไปได้ จึงจอดรถเอาไว้ที่ริมขอบทาง วันรุ่งขึ้นมาตรวจสอบพบว่ารถกระบะดังกล่าวสูญหาย อันเป็นความเท็จ ทั้งนี้ จำเลยกระทำไปโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และได้แจ้งความว่ามีการกระทำความผิด โดยประการซึ่งอาจทำให้ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้รับประกันภัย ร้อยตำรวจโท เสนาะ พนักงานสอบสวน ผู้อื่นและประชาชนได้รับความเสียหาย อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องต่อไปว่า เพราะความจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดยืนยันว่ารถกระบะดังกล่าวจำเลยนำมาจอดไว้และถูกคนร้ายลักเอาไปแต่อย่างใด แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่า ความจริงมิได้มีการกระทำความผิดอาญาโดยมีคนร้ายลักรถกระบะของจำเลยไปแต่อย่างใด แต่จำเลยได้แจ้งข้อความเท็จว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นโดยมีคนร้ายลักเอารถไป อันเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานครบองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งข้อความเท็จตามกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยความเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยก่อน ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอก เสนาะ พนักงานสอบสวน เป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 21 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร จำเลยมาแจ้งต่อพยานว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน ผม 4709 นครราชสีมา จากอำเภอโคกกรวด จังหวัดนครราชสีมา ไปหาเพื่อนชื่อตรี ไม่ทราบชื่อสกุลจริง ที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เพื่อให้พาไปสมัครงาน เมื่อไปถึงไม่สามารถติดต่อเพื่อนได้ จึงเดินทางกลับบ้านเวลาประมาณ 19 นาฬิกา โดยใช้เส้นทางถนนสีคิ้ว – ชัยภูมิ จำเลยแวะเติมน้ำมันดีเซล 700 บาท ที่ปั๊มหัวบีบหัวเดียวบ้านวังขอนขว้าง อำเภอโคกสำโรง เมื่อขับมาถึงอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี สัญญาณไฟเตือนน้ำมันใกล้หมด จำเลยไม่มีเงินเติมน้ำมันและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยแบบเติมเงินเงินหมด ไม่สามารถติดต่อใครได้ จำเลยพยายามขับรถกลับบ้าน เมื่อถึงบริเวณถนนสายสีคิ้ว – ด่านขุนทด ระหว่างกิโลเมตรที่ 18 ถึง 19 ใกล้ทางแยกบ้านหนองไม้ตาย ตำบลวังโรงใหญ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา น้ำมันหมด จึงจอดรถอยู่ข้างทาง ล็อกประตูรถ และโบกรถที่ผ่านมาเพื่อขอโดยสารกลับบ้าน กลับถึงบ้านเวลาประมาณ 2 นาฬิกา นั่งดูโทรทัศน์ที่บ้าน นางธนินท์รัฐ มารดาจำเลยสอบถามถึงรถกระบะ จำเลยบอกว่ารถน้ำมันหมด จอดทิ้งอยู่ริมถนนข้างป่าที่อำเภอสีคิ้ว ต่อมาเวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยและนายพิสิษฐ์ นำรถยนต์ที่บ้านเดินทางไปเพื่อเติมน้ำมันรถกระบะที่จอดข้างทาง แต่ไม่พบ จำเลยเข้าใจว่ารถกระบะถูกบริษัทไฟแนนซ์มายึดไปจึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว ได้รับคำแนะนำให้ไปแจ้งความ จำเลยจึงมาแจ้งความต่อพยาน พยานได้สอบปากคำจำเลยและได้จัดทำรายงานประจำวัน บันทึกการแจ้งรถหายและบันทึกคำให้การพยาน พยานให้เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนดำเนินการสืบสวนหาคนร้าย และพาจำเลยไปนำชี้ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 18 ถึง 19 เพื่อจัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ต่อมาร้อยตำรวจเอก พันธศักดิ์ และดาบตำรวจ สุนทวี เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนรถกระบะที่สูญหายได้แจ้งต่อพยานว่า ในช่วงเกิดเหตุดังกล่าวมีเหตุยิงกัน ร้อยตำรวจตรี พันธศักดิ์และดาบตำรวจ สุนทวี กับพวกได้เดินทางผ่านจุดที่จำเลยอ้างว่าจอดรถทิ้งไว้เวลา 22.45 นาฬิกา ไม่พบรถกระบะจอดอยู่ตามที่จำเลยอ้าง พยานสอบปากคำบิดามารดาจำเลยได้ความว่ารถกระบะดังกล่าวมีชื่อมารดาจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อ จำเลยเป็นผู้ใช้ ขาดส่งค่างวดธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ประมาณ 5 ถึง 6 งวด และได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) พยานสงสัยในส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีการแวะเติมน้ำมันจึงเดินทางไปที่ปั๊มน้ำมันบ้านวังขอนขว้างกับร้อยตำรวจตรี ศักดิ์ชัย สอบถามข้อมูลจากนางณัฏฐวรรณ บุตรเจ้าของปั๊มน้ำมันซึ่งเป็นผู้ดูแลปั๊มน้ำมัน แจ้งว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยกล่าวอ้างว่ามาเติมน้ำมัน ไม่พบว่ามีรถกระบะมาเติมน้ำมันดีเซล 700 บาท นอกจากนี้พยานยังได้ไปสอบถามปั๊มน้ำมันอื่นที่มีหัวจ่าย 2 หัว ยืนยันว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีปั๊มน้ำมันที่มีหัวจ่ายหัวเดียวคือของนางณัฏฐวรรณ พยานได้สอบปากคำดาบตำรวจ ประวิทย์ เจ้าพนักงานตำรวจประจำตู้ยามในหมู่บ้านยืนยันว่าหมู่บ้านดังกล่าวมีปั๊มน้ำมันแบบบีบหัวเดียวเพียงหนึ่งแห่ง พยานได้สอบปากคำนายปิยะ พนักงานบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ความว่า นายปิยะซึ่งมีหน้าที่ติดตามรถยนต์หายของบริษัทฯ ได้ให้ข้อสังเกตและข้อพิรุธว่าจำเลยแจ้งบริษัทฯ ว่าจำเลยใช้กุญแจรีโมท ล็อกรถยนต์แต่กุญแจที่จำเลยนำส่งคืนบริษัทฯ เป็นกุญแจธรรมดา นอกจากนี้ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) จะฟ้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาเช่าซื้อซึ่งผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเป็นเงิน 450,000 บาท ซึ่งตรงกับทุนประกันที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายในกรณีรถหาย จึงเริ่มสงสัยว่าจำเลยน่าจะแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อจะนำเงินประกันไปชำระค่างวดแก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ และพยานยังได้ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่จำเลยอ้างว่าได้ใช้ติดต่อเพื่อนชื่อตรีก่อนที่รถกระบะจะสูญหาย ไม่พบการใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลาดังกล่าว และโจทก์ยังมีร้อยตำรวจโท ศักดิ์ชัย เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนติดตามรถกระบะที่จำเลยแจ้งว่าสูญหาย พยานเดินทางไปที่บ้านวังขอนกว้าง ซึ่งจำเลยอ้างว่าได้แวะเติมน้ำมัน มีลักษณะเป็นปั๊มหัวบีบหรือปั๊มหลอด พยานสอบถามนางณัฏฐวรรณได้ความว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยกล่าวอ้างว่าแวะเติมน้ำมัน ไม่มีรถกระบะมาเติมน้ำมันดีเซล รถที่มาเติมส่วนใหญ่เป็นรถไถนาและรถจักรยานยนต์ภายในหมู่บ้านและเติมกันไม่เกิน 200 บาท พยานได้สอบถามพนักงานโรงงานน้ำมันพืชคิงส์ นายคมสัน ซึ่งเข้างานวันที่ 20 มกราคม 2556 เวลา 23.25 นาฬิกา และออกงานเวลา 8.38 นาฬิกา ส่วนนายอนุรักษ์ เข้างานในวันที่ 20 มกราคม 2556 ช่วงเวลา 14.45 นาฬิกา และออกงานวันที่ 21 มกราคม 2556 เวลา 00.01 นาฬิกา ทั้งสองได้ผ่านจุดที่จำเลยอ้างว่าจอดรถยนต์ไว้แต่ไม่พบรถกระบะจอดไว้ ร้อยตำรวจเอก พันธศักดิ์ และดาบตำรวจ สุนทวี เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า วันที่ 20 มกราคม 2556 พยานทั้งสองกับพวกไปปฏิบัติหน้าที่ติดตามคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นแล้วขับรถจักรยานยนต์หลบหนี จนกระทั่งเวลา 22.40 นาฬิกา ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจอีกชุดว่าสามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้แล้ว พยานทั้งสองกับพวกจึงขับรถยนต์ออกมาจากบ้านหนองไม้ตายเลี้ยวซ้ายไปยังอำเภอสีคิ้วผ่านจุดที่จำเลยอ้างว่าจอดรถทิ้งไว้บริเวณกิโลเมตรที่ 18 ถึง 19 ไม่พบรถกระบะจอดอยู่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายปิยะ พนักงานตรวจสอบกรณีรถหายของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 21 มกราคม 2556 เวลา 11.20 นาฬิกา ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ นางธนินท์รัฐ ผู้เอาประกันภัยรถกระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไตรตัน จำหมายเลขทะเบียนไม่ได้ มาแจ้งพยานว่ารถกระบะคันดังกล่าวสูญหาย พยานได้ตรวจสอบข้อมูลจึงทราบว่านางธนินท์รัฐได้ทำประกันภัยชั้น 1 ไว้กับบริษัทฯ ซึ่งจะครอบคลุมกรณีรถยนต์สูญหายด้วย ต่อมาพยานได้นัดจำเลยที่สถานีตำรวจภูธรสีคิ้วในวันที่ 25 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา เมื่อพยานเดินทางไปถึงสถานีตำรวจภูธรสีคิ้วพบจำเลยและบิดามารดาของจำเลย พยานได้สอบถามจำเลยในเบื้องต้นและให้จำเลยเขียนรายละเอียดทั้งหมด พยานขอเรียกเก็บกุญแจรถกระบะจากจำเลยซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯ ในการติดตามรถยนต์ที่สูญหาย จำเลยได้มอบกุญแจ 3 ดอก ให้พยาน หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว พยานต้องทำรายงานวิเคราะห์เพื่อเสนอบริษัทฯ เมื่อพยานตรวจสอบข้อมูลที่จำเลยให้ไว้ในส่วนของการปิดประตูรถซึ่งจำเลยแจ้งว่าใช้รีโมทกันขโมยล็อกรถ แต่ปรากฏว่ากุญแจที่จำเลยส่งมอบให้พยานเป็นกุญแจธรรมดาไม่ใช่กุญแจรีโมท พยานตรวจสอบบันทึก ข้อ 6 ในส่วนการชำระค่างวดรถยนต์ที่เช่าซื้อจำเลยลงบันทึกว่าได้ค้างค่างวดอยู่ประมาณ 5 ถึง 6 งวด งวดละ 9,613 บาท ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานของพยานทำให้พยานมีความสงสัยในการสูญหายของรถกระบะอย่างมีพิรุธ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งห้าเบิกความได้สอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ การเบิกความมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่พบหรือตรวจสอบในหน้าที่ของพยานแต่ละคน ประกอบกับพยานทั้งห้าไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความเพื่อให้จำเลยรับโทษ เชื่อว่าพยานทั้งห้าเบิกความไปตามความจริง โดยเฉพาะร้อยตำรวจเอก เสนาะ หลังจากได้รับแจ้งจากจำเลยก็ได้ทำรายงานประจำวันบันทึกการแจ้งรถหาย และบันทึกคำให้การพยาน และให้เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนดำเนินการสืบหาคนร้ายลักรถ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ การที่ร้อยตำรวจเอก เสนาะ ต้องเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ และสอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยตนเองตามที่เบิกความนั้น แสดงให้เห็นว่าร้อยตำรวจเอก เสนาะมีความสงสัยในตัวจำเลยว่าจะแจ้งความเท็จแก่พยาน เมื่อตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยก็ไม่พบว่ามีการใช้ติดต่อกับเพื่อนชื่อตรี สอบถามนางณัฏฐวรรณผู้ดูแลปั๊มน้ำมันแบบบีบหัวเดียวหรือปั๊มหลอดซึ่งมีอยู่เพียงหนึ่งแห่งที่บ้านวังขอนขว้างก็ได้รับแจ้งว่าไม่พบจำเลยแวะมาเติมน้ำมันตามที่จำเลยอ้าง โดยมีร้อยตำรวจโท ศักดิ์ชัย ที่ร่วมเดินทางไปกับร้อยตำรวจเอก เสนาะมาเบิกความสนับสนุน นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอก พันธศักดิ์ และดาบตำรวจ สุนทวี ที่ผ่านไปตรงบริเวณที่จำเลยอ้างว่าจอดรถทิ้งไว้ว่าไม่พบรถกระบะจอดทิ้งไว้แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ถนนที่เกิดเหตุแบ่งเป็นสองช่องทางเดินรถ รถแล่นสวนกันได้ มีไหล่ทางค่อนข้างแคบ ไม่มีเสาไฟฟ้าสาธารณะ ไม่มีบ้านเรือน บริเวณดังกล่าวจึงมืดและเปลี่ยว หากจำเลยจอดรถกระบะทิ้งไว้ที่ริมถนนดังที่จำเลยอ้าง เชื่อว่ารถของจำเลยต้องล้ำเข้ามาในช่องเดินรถหรืออย่างน้อยต้องชิดเส้นขอบถนนเป็นที่สังเกตของผู้ที่ผ่านไปมา โดยเฉพาะร้อยตำรวจเอก พันธศักดิ์ และดาบตำรวจ สุนทวี เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่าไม่เห็นมีรถกระบะจอดทิ้งไว้ริมถนนที่เกิดเหตุจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายปิยะอีกว่า จำเลยแจ้งพยานว่าใช้รีโมทกันขโมยล็อกรถ แต่ปรากฏว่ากุญแจที่จำเลยส่งมอบให้แก่พยานเป็นกุญแจธรรมดา ไม่ใช่กุญแจรีโมท เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำพิพากษา และสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุนางธนินท์รัฐมารดาจำเลยถูกธนาคารเกียรตินาคินจำกัด (มหาชน) ฟ้องให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง และศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาให้นางธนินท์รัฐคืนรถหรือ ใช้ราคาแทน 450,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดกรณีรถยนต์ที่รับประกันภัยสูญหาย และกรมธรรม์ประกันภัยรถกระบะดังกล่าวจะสิ้นสุดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 หลังวันรถกระบะสูญหายเพียงไม่กี่วัน จึงเชื่อว่ารถกระบะดังกล่าวมิได้สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป แต่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่ารถกระบะสูญหายเพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อ ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยมิได้แจ้งข้อความเท็จโดยมีนายพิสิษฐ์มาเบิกความเป็นพยานนั้น เห็นว่า นายพิสิษฐ์มิได้รู้เห็นว่าจำเลยนำรถกระบะไปจอดในที่เกิดเหตุและรถสูญหายไปจริงหรือไม่ เพียงแต่รับฟังข้อเท็จจริงมาจากจำเลย คำเบิกความของนายพิสิษฐ์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนข้อนำสืบของจำเลยเองก็เป็นแต่ข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังไม่ตรงกับที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนส่อให้เห็นพิรุธ จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นอันเป็นความผิดตามมาตรา 173 เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 173 อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไป อีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 (เดิม) จำคุก 1 ปี นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1769/2557 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา ข้อหาอื่นให้ยก

สรุป

การที่จำเลยรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะ แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์รถกระบะที่จำเลยเช่าซื้อไป เพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคาร ก. ผู้ให้เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments