Home คดีอาญา จอดรถข้างทางไม่ระวัง อาจมีโทษจำคุกและถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อย่างไร

จอดรถข้างทางไม่ระวัง อาจมีโทษจำคุกและถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อย่างไร

1439

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายฟ้องประกัน โดยหัวหน้าสำนักงาน ทนายอธิป ชุมจินดา จอดรถข้างทางไม่ระวัง อาจมีโทษจำคุกและถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อย่างไร เชิญอ่านได้เลยครับ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ วางหลักไว้ว่า  “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒  มาตรา ๖๑  วางหลักไว้ว่า “ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จอดในทางเดินรถได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่งจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”  และ

มาตรา ๑๕๑  วางหลักไว้ว่า  “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๙ มาตรา ๕๒ มาตรา ๖๑ หรือมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองร้อยบาทถึงห้าร้อยบาท”

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12009/2547

การที่จำเลยจอดรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกรถแบ็คโฮโดยมีแขนของรถแบ็กโฮ ยื่นออกมาด้านท้ายรถและเกินความยาวของตัวรถบริเวณริมถนน โดยไม่จัดให้มีโคมไฟสัญญาณหรือเครื่องหมายที่ต้องแสดง  ในกรณีที่จำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถและในลักษณะกีดขวางการจราจร จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนบริเวณแขนรถแบ็กโฮอย่างแรงได้รับอันตรายสาหัส แสดงให้เห็นว่าจำเลยจอดรถด้วยความประมาทขาดสำนึกและขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ถนนรายอื่น จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของผู้อื่น

การที่จำเลยไม่จัดให้มีโคมไฟสัญญาณแสงแดงที่ตอนปลายสุดของรถบรรทุกและจอดรถยนต์บรรทุกดังกล่าวที่ไม่ได้ติดตั้งโคมไฟสัญญาณแสงแดงไว้ข้างทางริมถนนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ชน ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสนั้น            การกระทำของจำเลยที่ไม่ได้จัดให้มีโคมไฟสัญญาณ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และฐานไม่จัดโคมไฟสัญญาณแสงตาม ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒  มาตรา 61, 151  การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลย

ดังนั้น จำเลยจึงได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง  ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเหมาะสมแล้ว แต่เมื่อจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นการบรรเทาผลร้ายแล้ว ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก

สรุปได้ว่า ศาลไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นการบรรเทาผลร้ายแล้ว ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก

 

iber.me/tanai-athip

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935

 

 

Facebook Comments