Home คดีอาญา นำคำพิพากษามาตีพิมพ์ ผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

นำคำพิพากษามาตีพิมพ์ ผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

1441

นำคำพิพากษามาตีพิมพ์ ผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 326, 328 และ 332 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลนี้เต็มหน้าด้วยตัวอักษรขนาดปกติของการเสนอข่าวทั่วไปในหนังสือพิมพ์รายวันดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ของจำเลย หนังสือพิมพ์รายวันบางกอกโพสต์ เดอะเนชั่นบิสซิเนสเดย์ วอลสตรีตเจอร์นอล ไฟแนเชียลไทม์ วอชิงตันโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ ผู้จัดการ ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ มติชน เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย ให้ยึดและทำลายหนังสือดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ของจำเลยที่พิมพ์โฆษณาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องทุกฉบับ

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ลงโทษปรับ 80,000 บาท ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ของจำเลยเป็นระยะเวลา 7 ครั้ง ติดต่อกัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ของจำเลยที่พิมพ์โฆษณาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องทุกฉบับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ลงโทษปรับ 80,000 บาท ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ของจำเลยเป็นระยะเวลา 7 ครั้ง ติดต่อกัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์ว่า โจทก์ถูกกล่าวหาว่าพยายามทำให้บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน โดยการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จในสมุดบัญชีโดยมีการเพิ่มราคาทรัพย์สินมากกว่าความเป็นจริง และเขาได้ยักย้ายเงินออกทางประตูหลังโดยการจ่ายเงินค่าเช่า 90 ปี ล่วงหน้าเป็นค่าเช่าอาคารซึ่งเป็นของครอบครัวของเขา… (…He allegedly tried to make TPI look solvent by fiddling the books to inflate the value of its assets. And he Slipped money out the back door by paying 90 years’ rent in advance on a building that happened to be owned by his family…) เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณาหรือไม่ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การลงพิมพ์ข้อความของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยในฐานะที่เป็นหนังสือพิมพ์ชอบที่จะกระทำได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ นั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า จำเลยลงพิมพ์ข้อความโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลาง ที่ปรากฏว่า หลังจากเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์คัดค้านอ้างว่า บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) มีฐานะทางการเงินดี ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและตีราคาทรัพย์สินตามหลักบัญชีแล้ว ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลว่า งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่แสดงความคิดเห็น เท่ากับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้แสดงตนว่าจะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้องเกี่ยวกับมูลค่าทรัพย์สินในงบการเงินดังกล่าว อันมีผลเท่ากับเป็นงบการเงินที่ฝ่ายบริหารลูกหนี้จัดทำขึ้นและรับผิดชอบในความถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนที่เกี่ยวกับค่าเช่าล่วงหน้า 90 ปี ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2546 บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ส จำกัด ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องโจทก์ นายประทีป และนายประมวล ว่า โจทก์กับพวกในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการให้บริษัทดังกล่าวเข้าทำสัญญาเช่าอาคารจากบริษัทพรชัยวิสาหกิจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์กับพวกและให้บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินค่าเช่ามัดจำล่วงหน้าสำหรับระยะเวลาการเช่า 90 ปี เป็นเงิน 268,000,000 บาท โดยโจทก์กับพวกเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทพรชัยวิสาหกิจ จำกัด ด้วย การกระทำของโจทก์กับพวกเป็นการจงใจให้ประโยชน์ในเชิงทรัพย์สินและผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจแก่บริษัทพรชัยวิสาหกิจ จำกัด เป็นเหตุให้บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์กับพวกร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนของเงินมัดจำค่าเช่าล่วงหน้าจำนวน 268,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ส จำกัด ผู้บริหารแผน ตามสำเนาคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังมาดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าเรื่องราวตามที่จำเลยลงพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับโจทก์มีมูลที่มาจากการดำเนินคดีทั้งในคดีหมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงมิใช่เป็นการกล่าวโดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างได้แต่อย่างใด ทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่ดำเนินไปโดยเปิดเผย จำเลยย่อมนำมากล่าวอ้างได้แม้ในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยจะเป็นการกล่าวสรุปโดยมิได้อ้างว่าเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาล แต่ก็มิได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และข้อที่ศาลล้มละลายกลางพบเห็นความผิดปกติตัวเลขของบัญชีที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่แสดงความเห็นก็ดี หรือการที่บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์กับพวกในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจได้ดำเนินการให้บริษัทเข้าทำสัญญาเช่าอาคารจากบริษัทพรชัยวิสาหกิจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์กับพวกและจ่ายเงินค่าเช่ามัดจำล่วงหน้าสำหรับระยะเวลาการเช่า 90 ปี เป็นเงินถึง 268,000,000 บาท ก็ดี ล้วนเป็นเรื่องของความผิดปกติที่วิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าความจริงเป็นเช่นใดแน่ก็ตาม ประกอบกับเนื้อหาในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยโดยรวมมิได้กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลในเอเชียหลังวิกฤตการณ์ด้านการเงินเมื่อปี 2540 โดยมีการกล่าวถึงการแก้ปัญหาของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ด้วย ส่วนที่มีการกล่าวถึงบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นบริษัทได้รับผลกระทบที่เป็นผลร้ายมากที่สุดและมีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดในเรื่องล้มละลายซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ดอกเบี้ยจำนวน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ อันเป็นเรื่องประชาชนควรต้องรับรู้ จึงไม่พอถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาร้าย หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

สรุป

จำเลยลงพิมพ์ข้อความโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลาง และคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่ดำเนินไปโดยเปิดเผย แม้ในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยจะเป็นการกล่าวสรุปโดยมิได้อ้างว่าเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาล แต่ก็มิได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และความผิดปกติต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าความจริงเป็นเช่นใดแน่ก็ตาม ประกอบกับเนื้อหาในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยโดยรวมมิได้กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลในเอเชียหลังวิกฤตการณ์ด้านการเงินปี 2540 โดยกล่าวถึงการแก้ปัญหาของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ด้วย ส่วนที่มีการกล่าวถึงบริษัท อ. เนื่องจากเป็นบริษัทได้รับผลกระทบที่เป็นผลร้ายมากที่สุดและมีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดในเรื่องล้มละลาย ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันเป็นเรื่องประชาชนควรรู้ จึงไม่พอถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาร้าย หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

 

Facebook Comments