Home คดีอาญา รถหายในห้าง ห้างต้องรับผิดหรือไม่ บริษัทรักษาความปลอดภัยต้องรับผิดหรือไม่

รถหายในห้าง ห้างต้องรับผิดหรือไม่ บริษัทรักษาความปลอดภัยต้องรับผิดหรือไม่

4383

รถหายในห้าง ห้างต้องรับผิดหรือไม่ บริษัทรักษาความปลอดภัยต้องรับผิดหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ปล 4127 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทซินเหม่ยกวง (กรุงเทพ) จำกัด จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภคแก่ประชาชน ได้จัดให้มีลานจอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในห้างตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ยืนประจำทางเข้าของห้างสรรพสินค้าและแจกบัตรจอดรถแก่ลูกค้าผู้นำรถยนต์เข้ามาใช้บริการ เมื่อลูกค้าจะออกจากห้างสรรพสินค้าต้องคืนบัตรแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ยกเลิกการจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ยืนประจำทางเข้าออก และงดการแจกบัตรจอดรถ โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดและปิดป้ายประกาศเตือนให้ลูกค้าระมัดระวังดูแลทรัพย์สินของตนเอง กับมีคำสั่งให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ไปดูแลพื้นที่อื่น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 เวลา 15.30 นางอิสรีย์ ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้าไปจอดที่ลานจอดรถในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 แล้วรถยนต์คันดังกล่าวสูญหายไป โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเงิน 230,000 บาท

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ดูแลรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ขายปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้จำเลยที่ 1 จะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎ แต่ในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการโดยนำรถยนต์เข้าไปในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นปกติ การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยนอกจากทำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการอันส่งผลต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 อีกด้วย ลักษณะการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยที่ 1 จัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ดังกล่าวถูกโจรกรรมได้โดยง่าย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกโจรกรรมหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเสียก่อน เห็นว่า โจทก์มีนางอิสรีย์เป็นพยานเบิกความประกอบภาพถ่ายว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ที่บริเวณทางเข้าออกของห้างสรรพสินค้า พยานขับรถยนต์เข้าไปในห้างสรรพสินค้าโดยผ่านกล้องวงจรปิด จอดรถไว้ที่ลานจอดรถ ล็อกเกียร์ ล็อกประตูรถ แล้วเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้างสรรพสินค้า เมื่อกลับมายังจุดที่จอดรถปรากฏว่ารถยนต์สูญหายไป จึงแจ้งเหตุต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ตรวจไม่พบรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย จึงดูภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่ามีผู้ขับรถยนต์ออกไปในเวลาประมาณ 16 นาฬิกา โดยขับย้อนศรสวนออกไปในช่องทางรถเข้าเพื่อหลบกล้องวงจรปิด พยานไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้วและแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์มอบหมายให้นายพินิจ ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ติดตามรถหายมาตรวจภาพจากกล้องวงจรปิดและถ่ายรูปรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ตามภาพถ่าย และสอบปากคำพยานไว้ตามเอกสาร โจทก์มีนายพินิจเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายให้ติดตามรถหาย จึงออกไปตรวจที่เกิดเหตุถ่ายรูปทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าไว้ตามภาพถ่าย ตรวจภาพจากกล้องวงจรปิดกับพนักงานของจำเลยที่ 1 พบว่านางอิสรีย์ขับรถเข้าไปในห้างสรรพสินค้าในเวลา 15.54 นาฬิกา และมีผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวออกจากห้างสรรพสินค้าในเวลา 16.25 นาฬิกา โดยขับย้อนศรสวนทางออกไปในช่องทางเข้า ทำให้กล้องวงจรปิดส่องไม่เห็นหน้าคนขับ พยานถ่ายรูปรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากกล้องวงจรปิดไว้ตามภาพถ่าย จำเลยที่ 1 มีนายชาญชัย ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายป้องกันการสูญหายเป็นพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2552 จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ยืนคอยแจกบัตรจอดรถและรับบัตรคืน และมีกล้องวงจรปิดตั้งบริเวณทางเข้าออกของห้างสรรพสินค้า การคืนบัตรและรับบัตรคนขับรถจะต้องลดกระจกและรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้จะสามารถมองเห็นใบหน้าของคนขับ หากคนขับทำบัตรจอดรถหายจะต้องมีหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย เหตุที่จำเลยที่ 1 ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถเพราะทำให้มีรถติดหน้าห้างสรรพสินค้า จำเลยที่ 1 ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่บริเวณทางเข้าออกและตามจุดต่าง ๆ ภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจสอบและระวังเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งได้ติดประกาศเตือนให้ลูกค้าระมัดระวังดูแลทรัพย์สินของตนเอง จำเลยที่ 1 จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายของทรัพย์สินของลูกค้าตามเอกสาร เป็นการใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว วันเกิดเหตุพยานรับแจ้งเหตุจากนางอิสรีย์ว่ารถยนต์สูญหาย พยานตรวจสอบบริเวณที่นางอิสรีย์จอดรถไม่พบเศษกระจกหรือร่องรอยของการโจรกรรม เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกโจรกรรมนั้น โจทก์มีภาพถ่าย เป็นพยานหลักฐานสนับสนุน นายพินิจเป็นผู้ถ่ายภาพทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 นางอิสรีย์และนายพินิจทราบเหตุการณ์ที่รถยนต์ถูกโจรกรรมโดยดูภาพจากกล้องวงจรปิด ปรากฏว่ามีคนร้ายขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยออกจากห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ย้อนศรสวนไปในช่องทางเข้าสมดังที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายพินิจเป็นผู้ถ่ายรูปรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยขณะถูกคนร้ายขับออกจากห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ไว้เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งนายชาญชัยพยานจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า รถยนต์ที่สูญหายขับออกไปทางเข้าของห้างสรรพสินค้า มิใช่เป็นทางออกของห้างสรรพสินค้า เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ติดตั้งกล้องวงจรปิดแทนการแจกบัตรจอดรถและปิดป้ายประกาศเตือนให้ลูกค้าใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินของตนเอง เป็นการใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว คงมีแต่คำเบิกความลอย ๆ ของนายชาญชัยว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถเพราะทำให้มีรถติดหน้าห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล เพราะวิธีการรักษาความปลอดภัยที่จำเลยที่ 1 เคยให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ยืนคอยแจกบัตรจอดรถและรับบัตรคืน และมีกล้องวงจรปิดตั้งบริเวณทางเข้าออกของห้างสรรพสินค้า การคืนบัตรและรับบัตรคนขับรถจะต้องลดกระจกและรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้จะสามารถมองเห็นใบหน้าของคนขับ เป็นวิธีการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม เพราะหากคนขับรถไม่มีบัตรจอดรถ จะต้องมีหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อนที่จะนำรถยนต์ออกไป แต่จำเลยที่ 1 กลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย และไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลบริการทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและซึ่งมีเครื่องกั้นจราจรสกัดกั้นมิให้ขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถได้โดยสะดวก ทำให้คนร้ายฉวยโอกาสนำรถยนต์ออกจากห้างสรรพสินค้าโดยแล่นย้อยศรสวนทางออกไปในช่องทางเข้า ผ่านด้านหลังของกล้องวงจรปิด ทำให้กล้องวงจรปิดไม่สามารถส่องเห็นใบหน้าคนขับ หากจำเลยที่ 1 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ในบริเวณทางเข้าและทางออก จำเลยที่ 1 ก็จะตรวจพบความผิดปกติของคนร้ายที่ขับรถย้อนศรออกไปทางช่องทางเข้าได้ในทันที เหตุรถยนต์สูญหายก็จะไม่เกิดขึ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 งดเว้นการที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมเป็นการกระทำด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 230,000 บาท แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ดูแลทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและตามลานจอดรถตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ไปดูแลพื้นที่อื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจึงจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ไปดูแลบริเวณอื่นอันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว ซึ่งเป็นตัวแทนจึงไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤษภาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

สรุป

จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ขายปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้จำเลยที่ 1 จะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการโดยนำรถยนต์เข้าไปในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นปกติ การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยนอกจากทำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการอันส่งผลต่อรายได้ของจำเลยที่ 1 อีกด้วย ลักษณะการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยที่ 1 จัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ดังกล่าวถูกโจรกรรมได้โดยง่าย

จำเลยที่ 1 ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถและไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลบริเวณทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและเครื่องกั้นจราจรสกัดกั้นมิให้ขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถได้โดยสะดวก ทำให้คนร้ายฉวยโอกาสนำรถยนต์ออกจากห้างสรรพสินค้าโดยแล่นย้อนศรสวนทางออกไปในช่องทางเข้าผ่านด้านหลังของกล้องวงจรปิดทำให้กล้องวงจรปิดไม่สามารถส่องเห็นใบหน้าคนขับ หากจำเลยที่ 1 จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ในบริเวณทางเข้าและทางออก จำเลยที่ 1 ก็จะตรวจพบความผิดปกติของคนร้ายที่ขับรถย้อนศรออกไปทางช่องทางเข้าได้ในทันที เหตุรถยนต์สูญหายก็จะไม่เกิดขึ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 งดเว้นการที่จักต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมเป็นการกระทำด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ดูแลทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าและตามลานจอดรถตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ไปดูแลพื้นที่อื่น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจึงจัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ไปดูแลบริเวณอื่นอันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจึงไม่มีหน้าที่ดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments