Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ช่วยพูดคุยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องทะเลาะวิวาท ผิดหมิ่นประมาทได้หรือไม่

ช่วยพูดคุยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องทะเลาะวิวาท ผิดหมิ่นประมาทได้หรือไม่

2996

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางวนิดา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 4 เดือน ปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายสนั่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจากนายหม่องให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างบุตรของนายหม่อง นายสนั่นจึงไปที่บ้านของนายคำรน บุตรของนายหม่องคนหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับบ้านของนายหม่อง พบนายคำรนและบุตรของนายหม่องอีกหลายคน บรรดาบุตรของนายหม่องรวมทั้งจำเลยด้วยต่างเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายหม่องจึงปรึกษาหารือหรือพูดคุยกับนายสนั่นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่านายหม่องจะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมด จะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่า ในฐานะที่จำเลยกับพวกเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของนายสนั่น การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปรับทุกข์กับนายสนั่น เพื่อให้นายสนั่นหาทางช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ครอบครัวของนายหม่อง ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จำเลยมีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นางประทุมพรเข้ามาร่วมรับฟังด้วยแล้ว การที่จำเลยกล่าวต่อหน้านางประทุมพรว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับนายหม่องและหลอกเอาเงินของนายหม่องนั้น เห็นว่า ที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายหม่องบิดาของจำเลย ไม่ก่อให้จำเลยเกิดสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้านางประทุมพรด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทเช่นว่านั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย และเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า การกล่าวหมิ่นประมาทของจำเลยเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุป

การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม แต่เมื่อ ป. เข้ามาร่วมรับฟังในภายหลังและจำเลยกล่าวต่อหน้า ป. ว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. แม้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นชู้กับ ห. และหลอกเอาเงิน ห. ก็ตาม แต่ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมต่อหน้า ป. ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอายและเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

Facebook Comments