Home ข่าวสาร ผู้รับเหมาทำงานบกพร่องเป็นเหตุให้ผิดสัญญา มีสิทธิเรียกค่าการงานที่ได้ลงมือทำไปแล้วได้หรือไม่

ผู้รับเหมาทำงานบกพร่องเป็นเหตุให้ผิดสัญญา มีสิทธิเรียกค่าการงานที่ได้ลงมือทำไปแล้วได้หรือไม่

1082

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่เพียงใด ในส่วนค่าเสียหายในค่าใช้จ่าย 10 ปี ค่าเสียหายสูญเสียรายได้และค่าเสียหายต่อชื่อเสียงตามที่จำเลยฎีกา เมื่อนายคริสโตเฟอร์กรรมการจำเลยเบิกความว่า เป็นเพียงการประมาณการของจำเลยเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไกลเกินเหตุ รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายในส่วนนี้ ในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการส่วนที่เหลือ 18,010,309 บาท เห็นว่า ในการที่จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องนั้น จำเลยไม่ได้นำบุคคลที่ซ่อมแซมแก้ไขงานหรือบุคคลที่จำเลยไปเช่าวัสดุอุปกรณ์หรือไปซื้อสินค้ามาให้ใช้ในการทำงานมาเบิกความเป็นพยานจำเลยต่อศาลเลย ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลที่ต้องทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่าได้มีการซื้อสินค้าหรือมีการเช่าวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในการทำงานหรือมีการซ่อมแซมแก้ไขงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องไปแล้วหรือไม่เพียงใด ส่วนนายคริสโตเฟอร์กรรมการจำเลยที่ไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไข รวมถึงไปเช่าวัสดุอุปกรณ์และไปซื้อสินค้ามาให้ใช้ในการทำงานซึ่งน่าจะต้องทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี กลับมาเบิกความเป็นพยานจำเลยสรุปรวบยอดเอาเลยว่า จำเลยไปจ้างบุคคลอื่นซ่อมแซมแก้ไขงานเป็นเงิน 27,830,363 บาท โดยไม่ได้แยกแยะรายละเอียดว่าจำเลยไปจ้างบุคคลใดมาซ่อมแซมแก้ไขงานหรือจำเลยไปเช่าวัสดุอุปกรณ์หรือจำเลยไปซื้อสินค้ามาจากบุคคลใดมาให้ใช้ในการทำงานส่วนไหนอย่างไร กี่ครั้ง ครั้งละเท่าใด เมื่อทนายโจทก์เอาค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการที่ 1 ถึงที่ 22 ถามค้าน นายคริสโตเฟอร์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอาไปซ่อมแซมแก้ไขอาคารใดในสนามบิน บางรายการก็เป็นการซ่อมแซมแก้ไขอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตกไม่เกี่ยวกับโจทก์ดังจะเห็นได้ว่าในรายการสำรวจความเสียหายของบริษัทอาหรับ ฟาซาด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก็ระบุว่าเป็นของอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตก ส่วนนางสาวสุมาลี พนักงานการเงินของจำเลยซึ่งไม่เกี่ยวข้องในการว่าจ้างก็มาเบิกความเป็นพยานจำเลยประกอบ เพียงว่า ได้จ่ายเงินค่าจ้างไปเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการที่ 1 ถึงที่ 22 ดังกล่าว นางสาวสุมาลีก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอาไปซ่อมแซมอาคารใดในสนามบิน บางรายการก็เป็นการซ่อมแซมแก้ไขอาคารท่าเทียบเครื่องบินด้านทิศตะวันตกไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์เช่นกัน อีกทั้งนางสาวสุมาลียังเบิกความอีกว่า ในช่วงเกิดเหตุจำเลยก็ยังเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ไปให้ผู้รับเหมาช่วงรายอื่นของจำเลยทำการติดตั้งกระจกที่อาคารสยามพารากอนและที่อาคารสยามเซ็นเตอร์ตามที่จำเลยรับจ้างอีกด้วย กรณีจึงไม่สามารถรับฟังได้โดยแน่นอนว่าที่จำเลยไปเช่าวัสดุอุปกรณ์หรือไปซื้อสินค้าจำเลยนำไปใช้ในงานส่วนไหน เมื่อค่าใช้จ่ายค่าเช่าในรายการที่ 23 และที่ 24 นั้น ก็เป็นสวัสดิการของพนักงานจำเลยที่จำเลยต้องเช่าบ้านให้พักอาศัยอยู่แล้ว เมื่อในประเด็นค่าเสียหายแม้โจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งก็ไม่ถือว่าโจทก์ยอมรับ เนื่องจากในเรื่องค่าเสียหายต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการผิดสัญญาของโจทก์เป็นสำคัญ ดังนั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นในรายการส่วนที่เหลือเท่าจำนวนที่ปรากฏ ดังกล่าวจริง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงรายงานสำรวจความเสียหายของจำเลย ก็น่าเชื่อว่าจำเลยได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแก้ไขงานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องจริง และก็ไม่ใช่จำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อนับแต่วันที่จำเลยตรวจพบความชำรุดบกพร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว จำเลยก็ยังไม่ยอมมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ หลังจากโจทก์ฟ้องแล้วจำเลยถึงเพิ่งมาฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในคำให้การ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันควรน่าเชื่อว่าจำเลยหักเงินประกันผลงานของโจทก์ไว้พอกับความเสียหายที่จำเลยได้รับแล้ว โดยถ้าโจทก์ไม่ฟ้องจำเลยก็คงไม่มาฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์การผิดสัญญาของโจทก์ประกอบแล้วจึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำเลยรวมกันไปกับค่าเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งที่รับฟังยุติเท่ากับเงินประกันผลงานเป็นเงิน 2,108,837 บาท

สรุป

ส่วนในเรื่องฟ้องแย้งจำเลยขาดอายุความหรือไม่ตามที่จำเลยฎีกา เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหนี้ในหนี้ที่โจทก์ต้องชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้จำเลย แม้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่จำเลยตรวจพบความชำรุดบกพร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นเหตุให้ฟ้องแย้งจำเลยขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย แต่เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในหนี้ที่จำเลยต้องคืนเงินประกันผลงานที่จำเลยหักไว้ให้โจทก์ในจำนวนเท่ากัน (โดยเหตุที่เมื่อจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจนศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว จำเลยก็ต้องคืนเงินประกันผลงานให้โจทก์เพื่อมาหักกลบลบหนี้อย่างที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยตามฟ้องโจทก์) เมื่อจำเลยแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กันตั้งแต่ในช่วงปี 2549 ถึงเดือนมกราคม 2550 ก่อนครบ 1 ปี ที่จะทำให้ฟ้องแย้งจำเลยขาดอายุความตามที่กล่าวมาแล้ว กรณีจึงมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 ส่งผลให้โจทก์จำเลยไม่มีหนี้สินในส่วนนี้ต่อกันอีก ถือว่าหนี้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยและหนี้เงินประกันผลงานของโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วด้วยการหักกลบลบหนี้ จากเหตุดังกล่าวกรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าฟ้องแย้งจำเลยจะไม่ขาดอายุความหรือไม่อย่างที่จำเลยฎีกา เนื่องจากไม่เป็นสาระคดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เมื่อเป็นดังนี้ จำเลยยังคงต้องชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์เท่านั้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 581,734 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 เมษายน 2550) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

เมื่องานที่โจทก์ทำให้จำเลยชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้นั้น ถูกต้องแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังคงต้องวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์อีก เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments