จุดใดที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันชีวิต
คดีทั้งสองสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2721 – 2724/2552, 2726/2552 และ 2727/2552 โดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 7 ตามลำดับ เรียกจำเลยสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2721/2552 ว่า จำเลยที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2722/2552 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ เรียกจำเลยสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2723/2552 ว่า จำเลยที่ 5 เรียกจำเลยสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2724/2552 ว่า จำเลยที่ 6 เรียกจำเลยสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2726/2552 ว่า จำเลยที่ 8 และเรียกจำเลยสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2727/2552 ว่า จำเลยที่ 9 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดสำนวนและแก้ไขคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 7 โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลกึ่งหนึ่ง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,100,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 500,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 500,000 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 2,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 16,475,000 บาท ให้จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 6,034,430 บาท ให้จำเลยที่ 8 ชำระเงิน 1,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 9 ชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนที่จำเลยแต่ละรายต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งแปดสำนวน
จำเลยทั้งเก้าให้การและจำเลยที่ 9 แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งเก้า โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 200,000 บาท และจำเลยที่ 7 ชำระเงิน 234,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในแต่ละสำนวนแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในแต่ละสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยที่ 1 จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า นายล้วน ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 และที่ 7 โดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ผู้ตายประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์เฉี่ยวชนถึงแก่ความตาย ซึ่งยังอยู่ในอายุสัญญาประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะกรรม เนื่องจากผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิต โดยทราบมาก่อนว่าผู้ตายมีอาการจิตประสาทและป่วยเป็นโรคหอบหืดกับโรคหลอดลมปอดอุดตันเรื้อรังหรือโรคถุงลมโป่งพอง โดยมีอาการมานานตั้งแต่ก่อนจนถึงขณะทำสัญญาดังกล่าว แต่ผู้ตายละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงให้จำเลยที่ 1 และที่ 7 ทราบ ผู้ตายทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ไว้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2542 ส่วนสัญญาประกันชีวิต ผู้ตายทำสัญญากับจำเลยที่ 7 ไว้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 1 และที่ 7 มีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 7 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 7 ต้องชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์กับพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 แล้วฟังข้อเท็จจริงเชื่อตามพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มิได้มีความสัมพันธ์เป็นภริยาของผู้ตาย แต่จดทะเบียนสมรสกันโดยอาศัยความบกพร่องทางจิตประสาทของผู้ตาย เพื่อหวังผลประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิต ผู้ตายมีสติปัญญาต่ำกว่าบุคคลปกติทั่วไป ไม่สามารถรู้และเข้าใจในสิ่งที่ตนเองกระทำ และไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งผู้ตายไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเอาประกันภัยทุกบริษัทรวมเป็นเงิน 43,749,430 บาท ซึ่งต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยถึงปีละ 544,701.16 บาท ไม่น่าเชื่อว่าผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 ด้วยเจตนาที่แท้จริงของผู้ตายเอง แต่เกิดจากโจทก์และบุคคลอื่นซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้เป็นผู้จัดให้มีการเอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่น โดยหวังเอาผลประโยชน์จากการทำสัญญา โดยผู้ตายไม่อยู่ในฐานะที่จะรับรู้ข้อเท็จจริงและไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำนิติกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ ศาลชั้นต้นได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้โดยละเอียดชัดแจ้งแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้จัดให้ผู้ตายเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่นซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 7 โดยโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นผู้เอาประกันชีวิต แต่โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์จัดทำขึ้นย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์สัญญาประกันชีวิต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 7 ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 7 จะมิได้ฎีกาในเรื่องนี้ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลรวมไปถึงจำเลยที่ 7 ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 7 เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีต้องเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 7 ด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 1 และที่ 7 โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 7 ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป โจทก์เป็นผู้จัดให้ผู้ตายเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่นซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 7 โดยโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นผู้เอาประกันชีวิต แต่โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์จัดทำขึ้นย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์สัญญาประกันชีวิต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 7 ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 7 จะมิได้ฎีกาในเรื่องนี้ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลรวมไปถึงจำเลยที่ 7 ด้วยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
iber.me/tanai-athip