อายุความประกันวินาศภัย มีอายุความฟ้องร้องคดีกี่ปี่
ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๘๘๒ ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย
ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสองปีนับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด
ในกรณีที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยมีอายุความ ๒ ปี ตามมาตรา ๘๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะนำอายุความละเมิดตามมาตรา ๔๔๘ มาใช้บังคับไม่ได้ (ฎีกา ๔๔๗๙/๒๕๓๓ ,๒๙๐๔/๒๕๓๕ )
จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๗๙/๒๕๓๓
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยจะยกอายุความเรื่องละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ เมื่อความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย และมีลักษณะเป็นการประกันวินาศภัยตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ลักษณะ 20 หมวด 2 จึงต้องนำอายุความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 882 วรรคแรก ซึ่งมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยมาปรับแก่คดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๐๔/๒๕๓๕
จำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1ที่ให้จำเลยร่วมที่ 1 เช่าซื้อไป และลูกจ้างได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปชนรถยนต์ของโจทก์ การฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 วรรคสอง มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคแรกจึงนำอายุความในมูลละเมิดตามมาตรา 448 มาใช้ไม่ได้เมื่อเกิดเหตุรถยนต์ชนกันวันที่ 28 ตุลาคม 2524 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมแล้ว จำเลยร่วมที่ 1ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2526 ถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้ค่าทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) และอยู่ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ข้อสังเกต
อายุความตามมาตรา ๘๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นอายุความฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทน เพราะความรับผิดของผู้รับประกันภัยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย แต่ในกรณีผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำละเมิด ตามมาตรา ๘๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น ไม่อยู่ภายใต้บังคับอายุความ ๒ ปีตามมาตรา ๘๘๒ หากแต่ถือตามหลักการรับช่วงสิทธิ ที่ว่าผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัยที่ตนรับช่วงสิทธิมา ดังนั้น ผู้รับประกันภัยต้องฟ้องผู้ทำละเมิดภายในอายุความ มาตรา ๔๔๘ (ฎีกา ๒๔๒๕/๒๕๓๘ , ๒๑๓๘/๒๕๓๔ , ๕๘๑๓/๒๕๒๙ )
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า หากผู้ได้รับความเสียหาย (ผู้เอาประกันภัย ) ฟ้องผู้กระทำละเมิดโดยอายุความฟ้องผู้กระทำละเมิด (รวมทั้งนายจ้าง ตัวการ ฯลฯ ) มีกำหนดอายุความ ๑ ปี ตามมาตรา ๔๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนอายุความฟ้องร้องผู้รับประกันภัยมีกำหนดอายุความ ๒ ปี ตามมาตรา ๘๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
iber.me/tanai-athip