Home คดีอาญา ผู้เอาประกันภัยไปตกลงทำสัญญายอมกับผู้กระทำละเมิดมีอายุความกี่ปี

ผู้เอาประกันภัยไปตกลงทำสัญญายอมกับผู้กระทำละเมิดมีอายุความกี่ปี

1423

อายุความ กับกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้กระทำละเมิด?

 

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

มาตรา ๑๙๓/๓๐ อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

 

กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้กระทำละเมิด  แต่หากไม่ได้ปฎิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  สัญญาประนีประนอมยอมความยังไม่ได้ระงับสิ้นไป  แต่เมื่อผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว  ทำให้ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องร้องผู้กระทำละเมิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๐/๒๕๔๐

จำเลยขับรถยนต์ของส.ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยความประมาทของจำเลยในวันเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์มีต่อส. ยังมีผลบังคับอยู่โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ส. แม้ส. จะได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยยอมให้จำเลยซ่อมรถยนต์ของส. ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมภายหลังจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยครบกำหนดแล้วก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิของส. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่แก่จำเลยในการที่จะเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยยังคงมีอยู่หาได้สิ้นสิทธิไปเพราะการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยกับส. ไม่เพราะบันทึกข้อตกลงที่จำเลยยอมซ่อมรถยนต์ของส. เป็นข้อตกลงที่ผูกพันเฉพาะจำเลยกับส. เมื่อจำเลยยังมิได้ปฎิบัติตามสัญญาหาได้มีผลทำให้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับส.สิ้นผลไปด้วยไม่ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ส.ผู้เอาประกันภัยไปแล้วโจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของส. ฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา227โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าส. ผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยผู้ทำละเมิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวทำให้มูลหนี้ละเมิดสิ้นไปโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำมูลหนี้ละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิในมูลหนี้ละเมิดส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยในฐานะที่โจทก์รับช่วงสิทธิของส. มาตามมูลหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ส.ผู้เอาประกันภัยมีต่อจำเลยมิใช่ฟ้องในมูลหนี้ละเมิดจึงเป็นการฟ้องคนละประเด็นกันฉะนั้นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา148 โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของส. ผู้เอาประกันภัยอันมีต่อจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ส.ทำไว้กับจำเลยมิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลยตามสัญญาประกันภัยสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะจึงต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา193/30แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีอายุความ10ปีนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีของต้นเงิน261,100บาทนับแต่วันที่13กุมภาพันธ์2535เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(วันที่8มีนาคม2537)ให้ไม่เกิน58,777.45บาทตามที่โจทก์ขอหมายความว่าศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยจากวันที่13กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่8มีนาคม2537ซึ่งเป็นวันฟ้องให้โจทก์เท่าจำนวนที่คำนวณได้จริงแต่ถ้าคำนวณแล้วได้ดอกเบี้ยเกิน58,777.45บาทก็คงให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์เพียง58,777.45บาทเท่าที่โจทก์ขอมาที่จำเลยอ้างว่าจำเลยคำนวณดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์นับแต่วันที่13กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่8มีนาคม2537ได้เพียง40,796บาทโจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเกินจำนวน40,796บาทได้นั้นเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงยังฟังยุติไม่ได้ว่าจำเลยคำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่13กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่8มีนาคม2537ถูกต้องตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่จึงสมควรให้เป็นภาระของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้มีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่จะคิดคำนวณ

 

         ดังนั้นพอสรุปได้ว่าอายุความกรณีผู้เอาประกันไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้กระทำละเมิด เมื่อผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายย่อมเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องร้องผู้กระทำละเมิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

 

Facebook Comments