Home บทความคดีแพ่ง รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีเช็คเด้ง

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีเช็คเด้ง

1459

รวมคำพิพากษาศาลฎีกา สู้คดีเช็คเด้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560

จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2557

เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14667/2556

แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะใช้คำว่า ผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกันตาม ป.อ. มาตรา 83

การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้สลักหลัง ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาท เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการออกเช็คพิพาท แล้ว ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13362/2556

เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าการสั่งจ่ายเช็คพิพาทมิใช่เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงจะครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อพยานโจทก์ทราบเรื่องภายหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้นำเช็คไปขึ้นเงินแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น แสดงว่าพยานโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ รวมถึงรายละเอียดมูลหนี้ของเช็คพิพาท แต่พยานทราบเรื่องดังกล่าวจากการบอกเล่าของโจทก์ในภายหลัง พยานมิได้รู้เห็นข้อเท็จจริงที่เบิกความด้วยตนเองจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11401/2556

สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อยู่ที่วันออกเช็ค คือ วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีธนาคารอันจะพึงจ่ายตามเช็คนั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ผู้เสียหายได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่ามีวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11242/2556

โจทก์ไม่อ้างและนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องในคดีนี้เป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยอ้างส่งเช็คที่เตรียมไว้ในคดีอื่นเป็นพยานในคดีนี้แทน ต่อมาได้มีการนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูลแล้ว เห็นว่า แม้เช็คและใบคืนเช็คเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่โจทก์ไม่ได้นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าสืบและอ้างส่งเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และต่อมามีการแก้ไขคำเบิกความของพยาน และนำเช็คทั้งสองฉบับมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนซึ่งจำเลยฎีกาว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบก็ตาม ก็ต้องถือว่าคดีนี้ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ไม่ใช่คดีที่ยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องตามที่จำเลยฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีมีมูลและให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือพิพากษายกฟ้อง เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ซึ่งโจทก์สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพิ่มเติม รวมทั้งอ้างเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องซึ่งโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้วนอกเหนือจากที่นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบพยานหลักฐานจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581 – 6582/2556

จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556

ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556

จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4951/2556

จำเลยและผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนกันลงทุนซื้อเหล็กในแต่ละครั้ง เมื่อขายเหล็กได้ จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คตามยอดเงินที่ขายได้ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งจะมียอดเงินในเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับเปรียบเทียบกับรายการซื้อขายเหล็ก ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับแก่ผู้เสียหายตามมูลค่าการขายเหล็กซึ่งยังไม่ได้แบ่งเงินตามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนกันเป็นยอดเงินสุทธิว่ามีจำนวนเท่าใด ทำให้ขณะนั้นจำเลยยังไม่มีหนี้ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับโดยยังไม่มีมูลหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18851/2555

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ในขณะที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18850/2555

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด หลังจากนั้นจำเลยออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ (หุ้น) แก่โจทก์ การออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16973/2555

การออกเช็คที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ เช็คดังกล่าวจะต้องเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเช็คที่ไม่อาจฟ้องบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์นำเช็คมาฟ้องเป็นคดีนี้ให้จำเลยรับผิดไม่ได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

 

Facebook Comments