Home ข่าวสาร หลักที่ศาลฎีกาวินิจฉัยการผิดสัญญาคดีรับเหมาก่อสร้าง

หลักที่ศาลฎีกาวินิจฉัยการผิดสัญญาคดีรับเหมาก่อสร้าง

1260

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,351,592 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,228,720 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 620,008.95 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,074,381 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,064,761 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (วันที่ 27 มิถุนายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยรับจ้างก่อสร้างอาคารชุดโครงการไทดี้ ดีลักซ์ (Tidy Deluxe) สุขุมวิท 34 จากบริษัททองหล่อสิบเจ็ด จำกัด ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2556 จำเลยจ้างโจทก์ให้ติดตั้งประตู หน้าต่าง และงานอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมและกระจกในอาคารชุดดังกล่าว รวมวงเงินค่าจ้างงานทั้งสิ้น 10,802,721.07 บาท โจทก์ส่งมอบงานและจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วจำนวนหกครั้ง ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายเป็นเงินค่าจ้าง 2,028,720.86 บาท จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 มกราคม และวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เป็นเงิน 500,000 บาท และ 300,000 บาท ตามลำดับ เป็นเงินรวม 800,000 บาท ส่วนที่เหลือ 1,228,720 บาท จำเลยไม่ชำระ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรก คือ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพียงใด และจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างหรือไม่ เพียงใด จำเลยฎีกาอ้างว่า เมื่อเกิดการชำรุดบกพร่องในงานของโจทก์ และจำเลยแจ้งให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมแล้ว โจทก์กลับปฏิเสธจะเข้าซ่อมแซม ทั้งยังไม่ได้ให้ประกันตามสมควรแก่จำเลย จำเลยจึงชอบที่ยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599 ทั้งหมด เห็นว่า ทางนำสืบโจทก์ยอมรับว่า งานของโจทก์มีข้อชำรุดบกพร่องและยังไม่ได้แก้ไข ฝ่ายจำเลยได้แจ้งให้โจทก์แก้ไขมาตลอด โดยการพูดคุยผ่านทางการส่งข้อความระบบไลน์จนถึงประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ไปบางส่วนหาเป็นการยอมรับมอบงานที่ทำนั้นโดยไม่อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย แต่เป็นการจ่ายค่าจ้างในงานที่สำเร็จไปแล้วบางส่วนเท่านั้น เมื่อปรากฏว่างานที่โจทก์ทำยังมีข้อบกพร่อง และจำเลยได้ทักท้วงให้โจทก์เข้าแก้ไขงานโดยตลอด การที่โจทก์ไม่เข้าไปแก้ไขงานที่รับจ้างให้เรียบร้อย แต่เกี่ยงให้จำเลยชำระค่าจ้างเสียก่อน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฝ่ายจำเลยย่อมชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599 แต่สินจ้างที่จำเลยอาจใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ได้นั้น จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไว้เพียงจำนวนเพื่อเป็นประกันตามสมควรในงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องเท่านั้น ตามนัยมาตรา 599 จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายที่เกิดจากงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อความเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งเห็นได้ว่าน้อยกว่าจำนวนค่าจ้างที่ค้างชำระมาก จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย ส่วนความเสียหายที่จำเลยได้รับจากการทำงานบกพร่องของโจทก์ นายมานพ พยานโจทก์เบิกความยอมรับว่า งานกระจกของโจทก์ยังไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่อง และนายพิชัย ลูกจ้างโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ราวและกระจกกันตกดาดฟ้าที่มีปัญหากระจกแตกร้าวเนื่องจากโครงสร้างงานปูนที่เป็นร่องรองรับงานเหล็กตัวยูเพื่อรองรับกระจกซึ่งเป็นงานของจำเลยไม่สมบูรณ์ ร่องดังกล่าวมีปูนหล่นลงไปในขณะที่จำเลยเทปูนบริเวณรอบข้างร่องเหล็กตัวยู ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยการสกัดปูนที่ตกลงไปในร่องดังกล่าวออกให้กว้างขึ้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับจ้างติดตั้งกระจกดังกล่าวต้องใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญในงานที่ทำ แก้ไขไม่ให้กระจกที่ติดตั้งเกิดการแตกร้าวเพราะเหตุดังกล่าวซึ่งมิได้เกิดจากการใช้งานตามปกติ การที่กระจกที่โจทก์ติดตั้งแตกเสียหายจึงเกิดจากการที่โจทก์มิได้ใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญให้เพียงพอในการทำงานจ้างดังกล่าว แม้กระจกที่โจทก์ติดตั้งแตกร้าวภายหลังจากที่จำเลยฟ้องแย้งแล้ว ก็ถือเป็นความผิดของโจทก์โดยตรงที่ไม่ใช้ฝีมือและความชำนาญให้เพียงพอในการติดตั้งกระจกดังกล่าวให้สามารถใช้การได้ดี โจทก์จึงต้องรับผิดในความเสียหายส่วนนี้ เมื่อจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในการแก้ไขซ่อมแซมงานจ้าง 242,479 บาท และค่าเสียหายจากภาระดอกเบี้ย 377,529.95 บาท รวมเป็นเงิน 620,008.95 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในการแก้ไขซ่อมแซมงานจ้างเป็นค่าแก้ไขซ่อมแซมงานกระจก ค่าจ้างอุดซิลิโคนขอบหน้าต่าง ค่าเปลี่ยนกระจกแตก รวมเป็นเงิน 94,339 บาท ค่าเสียหายที่บริษัททองหล่อสิบเจ็ด จำกัด หักเงินจำเลยเป็นค่าพื้นไม้และวอลล์เปเปอร์ เป็นเงิน 60,000 บาท ค่าซ่อมกระจก เป็นเงิน 9,630 บาท แต่จำเลยอุทธรณ์ขอมา 9,620 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ทำงานบกพร่องเป็นเงิน 163,959 บาท เห็นว่า จำเลยฎีกาโต้แย้งเพียงว่า ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ทำงานบกพร่อง ทำให้จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างที่ต้องชำระแก่โจทก์ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้างต้นว่า ความเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งน้อยกว่าจำนวนค่าจ้างที่ค้างชำระ 1,228,720 บาท จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สอง คือ ค่าเสียหายที่จำเลยต้องจ้างพนักงานเดือนละ 5,000 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนเมษายน 2559 เป็นเงิน 90,000 บาท จำเลยฎีกาอ้างว่า หากไม่มีความชำรุดบกพร่องในส่วนงานของโจทก์ จำเลยจะส่งมอบผลงานงวดสุดท้ายได้ตามกำหนดเวลาในสัญญา และไม่จำต้องให้พนักงานมาควบคุมการทำงานก่อสร้างอีกต่อไป เห็นว่า พนักงานของจำเลยที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานจ้างและงานที่ต้องแก้ไข ไม่ได้ความว่าจำเลยจ้างพนักงานดังกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากโจทก์ติดตั้งกระจกชำรุดบกพร่อง แต่เป็นเงินเดือนที่จำเลยต้องจ่ายพนักงานอยู่แล้ว ความเสียหายดังกล่าวจึงมิใช่ผลโดยตรงที่เกิดจากการทำงานชำรุดบกพร่องของโจทก์ที่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้าย คือ จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเข้าดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมในอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าเสียหาย ในงานก่อสร้างที่ผู้รับจ้างจะคิดคำนวณค่าจ้างรวมค่าดำเนินการหรือกำไรจากการทำงานในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งเป็นปกติวิสัยในการประกอบการอยู่แล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า ความเสียหายในส่วนนี้เป็นการเข้าแก้ไขความชำรุดบกพร่องอันมีลักษณะเป็นงานเพิ่มที่จะต้องทำกันภายใต้ระยะเวลาใหม่ จำเลยต้องใช้เวลาและทุนในการเข้าดำเนินการใหม่อีกครั้งในการเข้าแก้ไขซ่อมแซม เห็นว่า ค่าดำเนินการงานจ้างอัตราร้อยละ 20 ที่ผู้รับจ้างเรียกเป็นผลกำไรจากงานจ้างตามที่จำเลยอ้างในฎีกา เป็นเงินกำไรในการปฏิบัติงานจ้างที่จำเลยคิดจากผู้ว่าจ้างจำเลยจึงไม่อาจนำทางปฏิบัติในการคิดกำไรดังกล่าวมาคำนวณเป็นค่าเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ชอบแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยเรียกมาเป็นค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากบริษัทผู้ว่าจ้างยึดหน่วงสินจ้างงวดที่ 20 และ 21 และเงินประกันผลงานที่จำเลยวางไว้ 9,293,303.84 บาท คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 377,529.95 บาท เห็นว่า จำเลยถูกผู้ว่าจ้างยึดหน่วงสินจ้างถึง 2 งวด และเงินประกันผลงานเป็นจำนวนมากถึง 9,293,303.84 บาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่างานจ้างของโจทก์มาก จำเลยยังมิได้ชำระเงินเพียง 1,228,720 บาท การที่จำเลยถูกผู้ว่าจ้างยึดหน่วงสินจ้างและเงินประกันผลงานดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติงานจ้างส่วนอื่นของจำเลยเองที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา กรณียังฟังไม่ได้ว่า ความเสียหายดังกล่าวเป็นผลจากการกระทำของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่จำเลยชอบแล้ว เมื่อนำค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลย 163,959 บาท หักกับค่าจ้างที่ค้างชำระ 1,228,720 บาท คงเหลือเงินค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ จำนวน 1,064,761 บาท ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งประตู หน้าต่าง และงานอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมและกระจกในอาคารชุด ท. โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่างานที่โจทก์ทำยังมีข้อบกพร่อง และจำเลยได้ทักท้วงให้โจทก์เข้าแก้ไขงานโดยตลอด การที่โจทก์ไม่เข้าไปแก้ไขงานที่รับจ้างให้เรียบร้อย แต่เกี่ยงให้จำเลยชำระค่าจ้างเสียก่อน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฝ่ายจำเลยย่อมชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 599 แต่สินจ้างที่จำเลยอาจใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ได้นั้น จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไว้เพียงจำนวนเพื่อเป็นประกันตามสมควรในงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องเท่านั้น ตามนัยมาตรา 599 จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายที่เกิดจากงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อความเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งเห็นได้ว่าน้อยกว่าจำนวนค่าจ้างที่ค้างชำระมาก จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย

Facebook Comments