Home บทความคดีแพ่ง การจ่ายเงินตามเช็คหลังคดีถึงที่สุด สามารถทำได้หรือไม่

การจ่ายเงินตามเช็คหลังคดีถึงที่สุด สามารถทำได้หรือไม่

1578

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2563

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน

โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้ว เห็นว่า คดีเป็นความผิดต่อส่วนตัวและถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสอง ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ถอนฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติว่า “คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย” บทบัญญัติดังกล่าวนำมาใช้บังคับแก่คดีในศาลแขวงด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ข้อเท็จจริงได้ความตามท้องสำนวนและรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 มีนาคม 2559 วันที่ 6 มีนาคม 2560 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 ว่า จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์แล้ว 90,000 บาท คงเหลือ 134,028 บาท ขอให้เลื่อนไปฟังผลการชำระหนี้หรือนัดฟังคำพิพากษาอีกสักนัดหนึ่งก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดฟังผลการชำระหนี้หรือนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 มีนาคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันนัดฟังผลการชำระหนี้หรือนัดฟังคำพิพากษาคงมีแต่ผู้รับมอบฉันทะของทนายความโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยไม่มาศาลและไม่ได้ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 เมษายน 2560 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นเมื่อถึงวันที่ 11 เมษายน 2560 คงมีแต่ทนายความของโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยไม่มาศาล ทนายความของโจทก์แถลงว่า หลังจากจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 90,000 บาท แล้วจำเลยไม่ชำระเงินแก่โจทก์อีกเลยและไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ขอให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาไป ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยและให้ออกหมายจับจำเลยมาลงโทษตามคำพิพากษาต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย 8 เดือนเศษ ทนายความของจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นลับหลังจำเลยแล้วอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังใหม่) โดยอ้างเหตุว่า จำเลยไม่ได้จงใจไม่มาศาลหรือหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 มีนาคม 2560 แต่เหตุที่ไม่มาศาลเพราะจำเลยไม่ได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาและทนายความของจำเลยก็ไม่ได้แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบ ทำให้จำเลยไม่ทราบว่ามีวันนัด อีกทั้งไม่มีเจ้าพนักงานไปจับจำเลยมาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9 นาฬิกา ให้ผู้ร้อง (จำเลย) นำส่งหมายนัดให้โจทก์ทราบโดยให้ปิดหมายได้ ครั้นเมื่อถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 คงมีแต่ทนายความของโจทก์ ทนายความของจำเลย และบิดาจำเลยมาศาล ทนายความของจำเลยแถลงว่า จำเลยมีความประสงค์ที่จะชดใช้เงิน 134,028 บาท คืนให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้เดิม วันนี้บิดาจำเลยนำเงินมาชำระแก่โจทก์ 60,000 บาท ส่วนที่เหลือจะหาเงินชำระให้ในอีกระยะหนึ่ง ขอเลื่อนการไต่สวนไปก่อน ทนายความของโจทก์แถลงว่าได้รับเงิน 60,000 บาท จากบิดาจำเลยแล้วและไม่คัดค้านที่ทนายความของจำเลยขอเลื่อนการไต่สวน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 12 มีนาคม 2561 เวลา 14 นาฬิกา ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ทนายความของโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่าวันที่ทนายความของโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยยังอยู่ในช่วงเวลาที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือไม่ เห็นว่า รายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 มีนาคม 2559 ระบุชัดเจนว่า จำเลยมาศาลในการพิจารณาคดีในวันดังกล่าว และศาลมีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดฟังผลการชำระหนี้หรือนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 มีนาคม 2560 จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา คำร้องของจำเลยไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ แสดงว่าจำเลยรับทราบกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 มีนาคม 2560 ด้วยตนเอง ดังนั้นแม้หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่จำเลยกล่าวอ้างว่า ศาลไม่ได้ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาให้แก่จำเลยและทนายความของจำเลยก็ไม่ได้แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบก็ตาม ก็ยังถือว่าจำเลยทราบกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 มีนาคม 2560 อยู่นั่นเอง เมื่อจำเลยไม่มาฟังคำพิพากษาตามกำหนดนัดโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี อันทำให้มีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษาก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษาต่อไป และเมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกหมายจับ ศาลชั้นต้นย่อมอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษานั้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นไปโดยชอบ กรณีไม่อาจเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาได้ พฤติการณ์ที่จำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดจนกระทั่งศาลชั้นต้นต้องออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษาและต้องอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่ได้มาแสดงตนและยื่นอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยนำข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาได้อย่างเห็นประจักษ์มายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นลับหลังจำเลยแล้วอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังใหม่) ภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาไปแล้ว 8 เดือน โดยจำเลยไม่ได้มาปรากฏตัวต่อศาลในชั้นไต่สวนคำร้องดังกล่าวเลย ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งโดยไม่ได้แสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงหลบหนีไม่มาศาลตลอดมาและพยายามเปลี่ยนแปลงกระบวนพิจารณาที่ชอบอยู่แล้วให้กลายเป็นไม่ชอบเพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับโทษ อันเป็นการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายและเอาเปรียบกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับในชั้นที่สุดศาลมิได้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ (เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นลับหลังจำเลยแล้วอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังใหม่) ตามที่จำเลยขอแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงถอนฟ้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 (ที่ถูก พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ด้วย) เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังคดีถึงที่สุดแล้วและพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยชดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วคดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 7 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3) (ที่ถูก และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ด้วย) เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคาร หรือหนี้ตามเช็คนั้นสิ้นผลผูกพันซึ่งจะมีผลให้คดีเลิกกันนั้นต้องเป็นการใช้เงินหรือหนี้ตามเช็คนั้นสิ้นผลอย่างช้าที่สุดก่อนคำพิพากษาถึงที่สุด หากช้าไปกว่านั้นคดีจะไม่เลิกกัน ดังนั้นแม้จะฟังว่าจำเลยใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้วแต่ก็เป็นการใช้เงินภายหลังวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงไม่เลิกกันตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สรุป เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ แม้จำเลยจะใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว แต่เป็นการใช้เงินภายหลังวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีอาญาจึงไม่เลิกกัน

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
Facebook Comments