#สลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) สามารถบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง คือ
พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘
มาตรา ๔ วรรค ๒ การเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน หรือการเล่นอื่นใดซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้ จะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมได้ต่อเมื่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต
มาตรา ๑๒ ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลงหรือผู้ใดเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นอันขัดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง หรือข้อความในใบอนุญาต ผู้นั้นมีความผิดต่อไปนี้
- ถ้าเป็นความผิดในการเล่นตามบัญชี ก. หมายเลข 1 ถึงหมายเลข 16 หรือการเล่นตามบัญชี ข. หมายเลข 16 เฉพาะสลากกินรวบหรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกันนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่งเว้นแต่ผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันที่เรียกว่าลูกค้า ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
……….
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๘๕๓ อัน การพนันหรือขันต่อ นั้น ท่านว่า หาก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่ได้ให้กันไป ใน การพนันหรือขันต่อ ก็จะทวงคืน ไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้ อย่างหนึ่งอย่างใด มิได้
ข้อบัญญัติ ที่กล่าวนี้ ท่านให้ใช้ตลอดถึง ข้อตกลง เป็นมูลหนี้ อย่างหนึ่งอย่างใด อันฝ่าย ข้างเสียพนันขันต่อ หากทำให้แก่ อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อจะใช้หนี้เงิน พนันหรือขันต่อ นั้นด้วย
จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๗๔/๒๕๕๖
จำเลยเลยทั้งสองซื้อสลากกินรวบจากผู้เสียหายที่ 1 จำเลยทั้งสองย่อมทราบว่าเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 และไม่ก่อให้เกิดหนี้ในอันที่จะสามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แม้หากเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายและลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ยังหาได้มีสิทธิที่จะทวงถามด้วยการข่มขืนใจให้ลูกหนี้ยอมชำระหนี้โดยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของลูกหนี้ไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจหรือเชื่อโดยสุจริตได้เลยว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะบังคับและข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ยอมชำระเงินค่าสลากกินรวบให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของผู้เสียหายที่ 1 ได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ยอมที่จะให้เงินแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการพยายามกรรโชก
จำเลยที่ 2 รู้เห็นโดยมีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกไปขู่เข็ญกับใช้กำลังประทุษร้าย (ด้วยการตบหน้าผู้เสียหาย) เพื่อทวงถามเงินค่าสลากกินรวบจากผู้เสียหายที่ 1 มาตั้งแต่แรก มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปเองเพียงลำพัง ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการพยายามกรรโชกและใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 83, 391
ขณะเกิดเหตุร้านเสริมสวยของผู้เสียหายที่ 1 ยังเปิดให้บริการอยู่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ไม่ถือเป็นเคหสถาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 364
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า สลากกินรวบ ไม่ก่อให้เกิดหนี้ในอันที่จะสามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th