ละเมิดกับประกันภัย
ผู้เสียหาย ฟ้องใครได้บ้าง
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา ๔๒๕ นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่ จ้างนั้น
มาตรา ๔๓๘ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
มาตรา ๘๘๗ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
ผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะเลือกฟ้องผู้ทำละเมิดหรือผู้ที่ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดหรือผู้รับประกันภัยคนใดคนหนึ่งให้รับผิดเต็มจำนวนหรือทุกคนให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวงเงินประกันภัยซึ่งผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชอบได้
จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๘๐/๒๕๖๓
โจทก์ทั้งสี่ ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิด และฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงแตกต่างกันโดยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ทั้งสี่ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างและจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะได้เอาประกันภัยไว้หรือไม่ ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 นั้น เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัยค้ำจุน ซึ่งผู้รับประกันภัยมีความผูกพัน ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามมาตรา 887 วรรคหนึ่ง มีความหมายว่าเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้เสียหายมีสิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่ตนเองจากผู้รับประกันภัยโดยตรง และเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบฐานละเมิดคือจำนวนเงินค่าเสียหายทั้งหมดที่ผู้เสียหายได้รับ แม้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง แต่ก็จะต้องไม่เกินไปกว่าวงเงินคุ้มครองตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย แม้ไม่ใช่ผู้กระทำละเมิด แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในหนี้ละเมิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นเต็มจำนวนตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 และ 438 และต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งนี้ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลือกฟ้องผู้ทำละเมิดหรือผู้ที่ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดหรือผู้รับประกันภัยคนใดคนหนึ่งให้รับผิดเต็มจำนวนหรือทุกคนให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวงเงินประกันภัยซึ่งผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชอบได้ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ภายในวงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังมีความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ในมูลหนี้ละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ส่วนกรณี ความเสียหายที่เกินจากจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เป็นผลจากการชดใช้ที่ล่าช้าของผู้รับประกันภัยอันจะทำให้ผู้รับประกันภัยยังคงต้องรับผิดนั้น มีเพียงค่าเสียหายของโจทก์ที่ 4 ที่เกินจากวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิด และศาลชั้นต้นได้กำหนดให้ตามความเสียหายที่แท้จริงมิใช่เป็นผลจากการชดใช้ที่ล่าช้าของจำเลยที่ 3 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงชอบแล้ว
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะเลือกฟ้อง
- ผู้ทำละเมิด
- ผู้ที่ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิด
- ผู้รับประกันภัยคนใดคนหนึ่งให้รับผิดเต็มจำนวนหรือทุกคนให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวงเงินประกันภัยซึ่งผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชอบได้
iber.me/tanai-athip