Home บทความคดีแพ่ง จุดที่ศาลใช้วินิจฉัยการเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในคดีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรามีจุดใดบ้าง

จุดที่ศาลใช้วินิจฉัยการเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในคดีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรามีจุดใดบ้าง

1904

จุดที่ศาลใช้วินิจฉัยการเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในคดีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรามีจุดใดบ้าง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 266, 268 และ 341

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1), 341 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาในฐานะผู้กู้เงินกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ร่วม/ค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 ส่งมอบสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3402 ให้โจทก์ยึดถือไว้ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 และความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่นั้นเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า โจทก์ประกอบอาชีพปล่อยเงินให้บุคคลอื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ไม่มีความประสงค์ที่จะยึดที่ดิน แต่หากผู้ที่มากู้ยืมเงินไม่ได้นำโฉนดที่ดินหรือสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มาแสดง โจทก์ก็จะไม่ให้กู้ยืมเงินเนื่องจากเกรงว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มีเงินมาชำระ โดยพิจารณาประกอบหนังสือสัญญาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินและทำไว้ให้โจทก์ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 รับว่าได้นำหลักฐานโฉนดที่ดิน เลขที่ 1620 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ถ่ายสำเนามอบให้โจทก์ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และจำเลยที่ 2 รับว่าได้ให้ข้อมูลแก่นายชาญกนกผู้พิมพ์สัญญาและโจทก์ผู้ให้กู้รับทราบโดยมีหลักประกันการกู้ยืมคือสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3402 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักประกัน แสดงว่าในการให้กู้ยืมเงินโจทก์มุ่งประสงค์เอาผลประโยชน์จากดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นสำคัญมากกว่าการบังคับชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาและหลักประกัน เพียงแต่โจทก์จะยอมให้กู้ยืมเงินได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่กู้ยืมเงินต้องมีโฉนดที่ดินหรือสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มาแสดงเพื่อเป็นหลักประกันต่อโจทก์ว่าจะมีเงินชำระ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แสดงต่อโจทก์จึงเป็นเหตุให้โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินไปตามหนังสือสัญญา เมื่อพิจารณาสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แล้วจะเห็นว่าเป็นสำเนาเอกสารที่นายวิทยานักวิชาการที่ดินชำนาญการรับรองความถูกต้องซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งความไม่ถูกต้องของเอกสาร จึงฟังได้ว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1620 ว่า นางสาวทิพย์วรรณเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้รับการยกให้จากนางเป้า ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายแรก แต่ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดิน เลขที่ 1620 ที่จำเลยที่ 1 นำมามอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักประกันนั้น มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายแรกโดยมีการเปลี่ยนชื่อนางเป้าเป็นชื่อจำเลยที่ 1 และไม่มีรายการในสารบาญจดทะเบียนที่นางเป้าให้ที่ดินแก่นางสาวทิพย์วรรณ สำหรับสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3402 ปรากฏข้อความในสารบาญจดทะเบียนว่า นางขวัญใจเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง และนางขวัญใจได้จดทะเบียนจำนองแก่สหกรณ์การเกษตร กรป.กลาง นพค. นครศรีธรรมราช แล้วจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองโดยระบุว่า นางขวัญใจเป็นผู้ไถ่ถอน แต่ในสารบาญจดทะเบียน ที่จำเลยที่ 2 นำมามอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักประกัน กลับปรากฏชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนโดยมีการเปลี่ยนชื่อผู้ไถ่ถอนจากนางขวัญใจเป็นชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มอบสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์และนายชาญกนกผู้พิมพ์สัญญาจะรู้ข้อมูลของหลักประกันดังกล่าวและระบุไว้ในหนังสือสัญญาได้อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินได้ว่าจะต้องมีหลักประกันมาแสดง การที่จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินและสำเนาเอกสารที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง และจำเลยที่ 2 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และสำเนาเอกสารที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง มาแสดงต่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและมอบสำเนาให้โจทก์ไว้ บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างรู้ดีว่าเอกสารที่ตนนำมาแสดงและมอบให้โจทก์นั้นเป็นเอกสารปลอม การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เอกสารปลอมดังกล่าวหลอกหลวงโดยแสดงต่อโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินจริง จึงยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินไป การใช้เอกสารของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเป็นการใช้เอกสารปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว เมื่อปรากฏข้อความในหนังสือสัญญาว่า จำเลยที่ 2 ยืมเงินไปลงทุนกิจการปลูกต้นกล้ายางพาราและปุ๋ยเคมีชีวภาพ การกู้ยืมดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์แห่งการทำนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะ ที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังก็ตาม ก็เฉพาะแต่ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย

สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นได้ความจากโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าที่จำเลยที่ 1 กู้ร่วมด้วยเพื่อจะนำเงินกู้นั้นไปปล่อยเอาดอกเบี้ย และจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นเงินสด ชำระไปแล้ว 4 งวด แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์จริงเพราะหากไม่จริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปก็เพื่อนำไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ย ดังนั้น ดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะคิดเรียกร้องเอาจากการปล่อยเงินกู้ย่อมต้องสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดีว่าต้องเป็นดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยรู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำไปปล่อยกู้ด้วยการเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1), 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1), 341 (เดิม), 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
Facebook Comments