Home บทความคดีแพ่ง ลักเอาสมุดบัญชี แล้วปลอมลายมือชื่อเพื่อถอนเงินในธนาคารของผู้เสียหายมีความผิดฐานใดบ้าง

ลักเอาสมุดบัญชี แล้วปลอมลายมือชื่อเพื่อถอนเงินในธนาคารของผู้เสียหายมีความผิดฐานใดบ้าง

1029

ลักเอาสมุดบัญชี แล้วปลอมลายมือชื่อเพื่อถอนเงินในธนาคารของผู้เสียหายมีความผิดฐานใดบ้าง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 265, 268, 334, 342 ริบใบคำขอถอนเงินของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 7,080 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 59,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง (ที่ถูก ไม่ต้องระบุ ตามมาตรา 268 วรรคสอง), 334, 342 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์สมุดบัญชีเงินฝากและบัตรประจำตัวประชาชน และฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จำเลยเป็นทั้งผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง และความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นกับความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบ มาตรา 265 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบใบคำขอถอนเงินอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมของกลาง กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 80 บาท แก่นายสมบัติ ผู้เสียหายที่ 1 และราคาทรัพย์ 59,000 บาท ให้แก่บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 รู้จักกับจำเลยมาก่อน ทั้งช่วงเกิดเหตุก็พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่ห้องเช่าและทำงานร้านนวดที่เดียวกัน วันเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 ยืนยันว่า ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปทำงาน จำเลยยังคงพักอยู่ที่ห้องเช่าโดยบอกว่าจะตามไปภายหลัง แต่วันดังกล่าวจำเลยไม่ไปทำงาน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ทราบว่าเงินในบัญชีหายไปจำนวน 59,000 บาท ก็รีบกลับมาที่ห้องเช่าแต่ไม่พบจำเลยและของใช้ส่วนตัวของจำเลยประกอบกับเมื่อไปตรวจสอบที่ธนาคารผู้เสียหายที่ 2 ก็เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดและจากภาพถ่าย เป็นภาพที่จำเลยไปเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ชิดต่อเนื่องกันกับเวลาเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยจึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าปรักปรำจำเลย ทั้งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แม้จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการยึดของกลางจากจำเลย และจำเลยไม่ใช่บุคคลที่ปรากฏในภาพวงจรปิดที่ไปเบิกถอนเงินจากธนาคาร แต่ผู้เสียหายที่ 1 และนายณภัทร พนักงานของผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุได้สอดคล้องเชื่อมโยงกันตามลำดับและยืนยันตรงกันว่าชายที่ปรากฏในภาพวงจรปิดที่มาเบิกถอนเงินในวันเกิดเหตุคือจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 รู้จักกับจำเลยมานานพอสมควร ทั้งพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ย่อมทราบถึงบุคลิกภาพลักษณะท่าทางเฉพาะตัวของจำเลยได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าสามารถจดจำบุคคลที่ปรากฏในภาพจากกล้องวงจรปิดได้ว่าเป็นจำเลย ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไปอันเป็นการส่อพิรุธ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยไม่เคยพักอาศัยอยู่ห้องพักเดียวกับผู้เสียหายในขณะเกิดเหตุ ไม่เคยเห็นลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 1 ที่ใช้ในการเบิกถอนเงินจากธนาคาร จึงไม่อาจลงลายมือชื่อให้เหมือนกับลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 1 ได้ ผู้เสียหายที่ 1 ไม่เห็นว่าใครลักสมุดเงินฝากและบัตรประจำตัวประชาชนไป ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิดก็เลือนราง ไม่เห็นหน้าหรือระบุตัวบุคคลได้อย่างชัดเจนว่าเป็นจำเลย คำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมโดยลงโทษฐานลักทรัพย์และฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นกระทงหนึ่ง กับลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิ ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นอีกกระทงหนึ่งนั้น เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในการลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาพระราม 3 สาขาของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อของผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าบัญชีไป กรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวที่จำเลยเอาไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลัก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อีกประการหนึ่ง ตามคำฟ้องของโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 188, 265, 334 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (เดิม), 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 334 (เดิม), 342 (1) ประกอบมาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

 

Facebook Comments