Home บทความคดีแพ่ง การออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายพิจารณาจากจุดใด

การออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมายพิจารณาจากจุดใด

974

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) (4) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 60,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 120,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 12 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 เดือน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 หรือไม่ ทางพิจารณาได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ โดยมีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ยืมเงิน 3 ส่วน ส่วนแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 จำนวน 200,000 บาทเศษ เพื่อจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ส่วนที่ 2 จำนวน 2,699,000 บาทเศษ เพื่อชำระหนี้ธนาคารดังกล่าว และส่วนที่ 3 โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขารัชดาภิเษก พระราม 4 และสาขาสุขุมวิท 33 ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2551 รวม 46 ครั้ง เป็นเงิน 24,200,000 บาทเศษ ซึ่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวข้างต้นไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนเงินคืนให้แก่โจทก์ 25 ครั้ง เป็นเงิน17,800,000 บาทเศษ คงค้างชำระ 6,400,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 ต่อรองขอชำระเพียง 6,100,000 บาท โดยจะจ่ายเป็นเช็ค 2 งวด พร้อมนัดทำสัญญากันในเดือนพฤศจิกายน 2551 ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ รวมเป็นเงิน 6,100,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ส่งมอบแก่โจทก์ หลังจากที่โจทก์รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับแล้วโจทก์ได้จัดทำบันทึกการรับสภาพหนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจดูแล้วจึงได้ลงลายมือและประทับตราของจำเลยที่ 1 ลงในบันทึกดังกล่าวตามบันทึกการรับสภาพหนี้ ภายหลังเมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์จึงนำเข้าเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามเช็คและใบคืนเช็ค เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น…” จะเห็นได้ว่า การกระทำใดจะมีมูลความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะต้องพิจารณาได้ความว่า เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมาย เช่น การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และได้มีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป โดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว และได้ทำบันทึกการรับสภาพหนี้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมดังกล่าวจากโจทก์ ซึ่งโจทก์มีเฉพาะบันทึกการรับสภาพหนี้ดังกล่าวฉบับเดียวที่อ้างเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไป ซึ่งเห็นได้ว่าบันทึกการรับสภาพหนี้ ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับแล้วแม้จะได้กระทำในวันเดียวกันก็ตามก็ถือได้ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คและส่งมอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์นั้น แม้จะรับฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริงตามทางนำสืบของโจทก์ แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

Facebook Comments