Home บทความคดีแพ่ง คดีเช็คจำเลยรับสารภาพศาลพิพากษายกฟ้องได้หรือไม่

คดีเช็คจำเลยรับสารภาพศาลพิพากษายกฟ้องได้หรือไม่

2383

คดีเช็คจำเลยรับสารภาพศาลพิพากษายกฟ้องได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1), (2), (3), (4) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปรวม17 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 20 วัน รวมจำคุก340 วัน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกรวม 170 วัน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะใช้คำว่า ผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปัญหาว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพจะถือว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค 17 ฉบับ ตามฟ้องมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้ค่าเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลัก ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเช็คทั้ง 17 ฉบับ ดังกล่าวมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักให้แก่จำเลยที่ 2 ในขณะออกเช็คจำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับ ในขณะออกเช็คเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ยังมิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับ ตามฟ้อง การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับ ดังกล่าวมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้สลักหลัง ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับ เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการออกเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับ แล้ว ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะยืนยันว่า เช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับ สามารถเรียกเก็บเงินได้ หากเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนร่วมในการออกเช็คพิพาททั้ง 17 ฉบับแล้ว จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะใช้คำว่า ผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกันตาม ป.อ. มาตรา 83

การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้สลักหลัง ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาท เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการออกเช็คพิพาท แล้ว ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

 

 

Facebook Comments