Home บทความคดีแพ่ง จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยเช็คค้ำประกัน

จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยเช็คค้ำประกัน

674

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กับจำเลยออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเทสโก้โลตัส สุราษฎร์ธานี รวม 2 ฉบับ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ฉบับที่ 1 สั่งจ่ายเงิน 400,000 บาท และฉบับที่ 2 สั่งจ่ายเงิน 427,600 บาท ต่อมาโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นางณัฐฑริกา และนางสุทธาลักษณ์ เบิกความได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2556 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา จำเลยมาที่บ้านของนางสุทธาลักษณ์ เพื่อกู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 400,000 บาท และ 427,600 บาท มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้เป็นหลักฐาน ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ โดยนางณัฐฑริกาเป็นผู้เขียนสัญญากู้ยืมเงิน และจำเลยได้ออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว เห็นว่า แม้โจทก์ นางณัฐฑริกา และนางสุทธาลักษณ์ เป็นพี่น้องกัน แต่โจทก์และพยานโจทก์ทั้งสองก็เบิกความสอดคล้องกันโดยไม่มีข้อพิรุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางสุทธาลักษณ์ เป็นเจ้าของบ้าน ส่วนนางณัฐฑริกา เป็นผู้เขียนสัญญากู้เงิน หากไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นดังที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความแล้ว ย่อมไม่มีเหตุที่พยานโจทก์ทั้งสองจะเบิกความดังกล่าวเพราะเป็นการเสี่ยงที่พยานโจทก์ทั้งสองอาจได้รับโทษทางอาญาได้ จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่านางณัฐฑริกาและนางสุทธาลักษณ์จะเบิกความเพื่อเป็นประโยชน์แก่โจทก์ เชื่อว่าโจทก์และพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความตามความเป็นจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคง ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยออกเช็คให้นางสุทธาลักษณ์เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินจากนางสุทธาลักษณ์หลายครั้ง และวันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์นั้นจำเลยอยู่ที่บ้านและอยู่ที่จังหวัดยะลานั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความว่า จำเลยกู้ยืมเงินนางสุทธาลักษณ์หลายครั้ง รวมเป็นเงินไม่เกิน 300,000 บาท จำเลยได้โอนเงินชำระหนี้ให้นางสุทธาลักษณ์เกินกว่า 300,000 บาท เมื่อจำเลยชำระหนี้ให้นางสุทธาลักษณ์เกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยกู้ยืมจากนางสุทธาลักษณ์ หากจะค้างชำระก็น่าจะมีเพียงแต่ดอกเบี้ย จึงเป็นการขัดต่อเหตุผลที่จำเลยจะออกเช็ค สั่งจ่ายเงินจำนวนรวมกันถึง 827,600 บาท ให้นางสุทธาลักษณ์ ทั้งจำเลยก็ไม่มีพยานมาเบิกความสนับสนุนว่า วันที่ 2 มีนาคม 2556 จำเลยอยู่ที่บ้าน ส่วนวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 จำเลยอยู่ที่จังหวัดยะลา สำหรับหลักฐานใบรับเงินและหลักฐานการเข้าพักที่โรงแรมพี.พี. จังหวัดยะลา ก็ไม่มีน้ำหนักรับฟังสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยได้เพราะจำเลยอาจให้ผู้อื่นชำระเงินค่าห้องพักแทนจำเลย และจำเลยสามารถเดินทางจากจังหวัดยะลามายังบ้านของนางสุทธาลักษณ์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วเดินทางกลับจังหวัดยะลาได้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับดังกล่าว ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทสโก้โลตัส สุราษฎร์ธานี เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาเทสโก้โลตัส จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุป

จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
Facebook Comments