Home บทความคดีแพ่ง สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บเช็คมีอะไรบ้าง

สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บเช็คมีอะไรบ้าง

681

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 3,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ1 เดือน รวม 7 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 21,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2เป็นเวลา 7 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความยืนยันเพียงว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับที่พยานรับมานั้นมีจำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่าย แต่พยานโจทก์มิได้ยืนยันว่าเช็คเหล่านั้นลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่พยานได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง อีกทั้งพยานโจทก์ปากอื่นคือนายทำนอง ลูกจ้างของผู้เสียหาย ก็เบิกความว่า ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้ไปรับเช็คพิพาทจากจำเลยทั้งสองมาให้ผู้เสียหาย แต่พยานก็ไม่ได้เบิกความว่าเช็คเหล่านั้นลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง พยานโจทก์ที่นำสืบมาจึงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าขณะที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทมามีการลงวันที่ในเช็คไว้แล้ว แม้เช็คพิพาทที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลในชั้นพิจารณาจะมีการลงวันที่ครบทุกฉบับก็ตาม แต่ปรากฏว่าวันที่ที่ลงในเช็คมีสีหมึกคนละสีกับสีหมึกของลายมือชื่อที่ลงในเช็คแต่ละฉบับ ส่อพิรุธให้เห็นว่าเป็นการลงวันที่ภายหลัง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเช็คทั้งเจ็ดฉบับมีการระบุวันที่ไว้อย่างชัดเจนแล้ว ส่วนการเขียนด้วยหมึกจะเป็นสีคนละสี ใครเป็นคนเขียนก็ยืนยันไม่ได้ว่าผู้เสียหายเป็นคนเขียนนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นผู้เขียนวันที่ในเช็คหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญของความผิดอยู่ที่วันออกเช็ค คือวันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีธนาคารอันจะพึงจ่ายเงินตามเช็คนั้นหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ผู้เสียหายได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง การที่เช็คทุกฉบับไม่ได้ลงวันที่จึงถือไม่ได้ว่ามีวันที่ที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 และให้ยกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อยู่ที่วันออกเช็ค คือ วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีธนาคารอันจะพึงจ่ายตามเช็คนั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ผู้เสียหายได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่ามีวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

 

Facebook Comments