Home บทความคดีแพ่ง การคืนเงินผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับหรือไม่

การคืนเงินผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับหรือไม่

1598

การคืนเงินผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556

คดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 5030/2550 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 1 ขอถอนฎีกา คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11/1, 12 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนต้นเงินกู้ที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปรวมเป็นเงิน 68,457,300 บาท ให้แก่ผู้เสียหายแต่ละราย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันกระทำผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินเสร็จและจ่ายเงินรางวัลให้แก่พนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 รวม 4 กระทง จำเลยที่ 2 รวม 10 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 50 ปี แต่ความผิดที่จำเลยที่ 2 กระทำมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงคงให้จำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 685,000 บาท แก่จ่าสิบเอกประมาณ ผู้เสียหายที่ 3 คืนเงินจำนวน 1,790,000 บาท แก่นางสาวรัชดา ผู้เสียหายที่ 37 คืนเงินจำนวน 180,000 บาท แก่พันโทเปล่ง ผู้เสียหายที่ 38 คืนเงินจำนวน 240,000 บาท แก่นายทองคูณ ผู้เสียหายที่ 39 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ดังกล่าวและให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 380,000 บาท แก่นายสมพร ผู้เสียหายที่ 5 คืนเงินจำนวน 200,000 บาท แก่นางเล็ก ผู้เสียหายที่ 29 คืนเงินจำนวน 100,000 บาท แก่นายสังเวียน ผู้เสียหายที่ 41 คืนเงินจำนวน 500,000 บาท แก่นางคำแพง ผู้เสียหายที่ 42 คืนเงินจำนวน 260,000 บาท แก่นางจงรักษ์ ผู้เสียหายที่ 43 คืนเงินจำนวน 200,000 บาท แก่นายสมชาติ ผู้เสียหายที่ 45 คืนเงินจำนวน 70,000 บาท แก่นางสำลี ผู้เสียหายที่ 46 คืนเงินจำนวน 373,200 บาท แก่จ่าสิบเอกสมัย ผู้เสียหายที่ 47 คืนเงินจำนวน 160,000 บาท แก่นายอุบล ผู้เสียหายที่ 48 และคืนเงินจำนวน 500,000 บาท แก่นางธารีรัตน์ ผู้เสียหายที่ 49 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งสิบคนดังกล่าว ข้อหาและคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 12 การกระทำของจำเลยทั้งสอง เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 10 ราย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง สำหรับข้อหาจัดให้มีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไปชักชวนบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้มีการกู้ยืมเงิน ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์มีอำนาจเรียกต้นเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายและเรียกผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายให้แก่ผู้เสียหายด้วยตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลมโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 ให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายในกรณีนี้คือการคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เห็นว่า ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับดังกล่าวจะต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์ขอดอกเบี้ยมานับแต่วันกระทำผิด ศาลชั้นต้นให้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระต้นเงินคืนให้แก่นางธารีรัตน์ ผู้เสียหายที่ 49 ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารท้ายคำฟ้อง จำนวน 500,000 บาท นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 คืนต้นเงินให้แก่นางธารีรัตน์ไปแล้วจำนวน 100,000 บาท จึงคงเหลือต้นเงินที่ต้องคืนอีกเพียง 400,000 บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นความผิดเฉพาะฐานฉ้อโกง ไม่เป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 33 ที่ 37 และที่ 39 ได้ขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อไป ตามบันทึกขอถอนคำร้องทุกข์ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เอกสารแนบท้ายคำร้องของทนายจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) รวมทั้งคำขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนย่อมตกไปด้วย แต่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และยังคงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 5 ที่ 29 ที่ 41 ถึงที่ 43 และที่ 45 ถึงที่ 49 จะขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อไป ตามบันทึกขอถอนคำร้องทุกข์แนบท้ายคำร้องของทนายจำเลยทั้งสองฉบับเดียวกัน แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ด้วยอันเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดมิใช่ความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ จึงไม่ระงับไป คงระงับไปเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ และยกคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้เสียหายทั้งหมด ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 เฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และให้จำเลยที่ 2 คืนต้นเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนเงินให้แก่นางธารีรัตน์ ผู้เสียหายที่ 49 เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุปสั้น ไม่ทำคดีอาญาระงับ

ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

 

Facebook Comments