เปิดคำพิพากษาฎีกาจุดสู้คดี ตัวการฉ้อโกงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีวิธีการสู้คดีอย่างไรบ้าง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 343 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 และให้จำเลยร่วมกันใช้เงินแก่นายไมเคิล ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 38,006.67 ดอลลาร์สหรัฐ นายพอล ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 32,778.60 ดอลลาร์สหรัฐ นายรัสเชล ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 15,469.50 ดอลลาร์สหรัฐ และนายเอเดรียน ผู้เสียหายที่ 4 เป็นเงิน 24,019.88 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 110,274.67 ดอลลาร์สหรัฐ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง, 289 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ สมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 2 ปี คืนของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นพนักงานของเมสัน ทอมป์สัน ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและจำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในนาม เบนสัน ดูปองท์ มอร์แกน แปซิฟิค และบริษัทอีก 6 แห่ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 90 ประกอบมาตรา 289 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 นั้น ไม่เป็นความผิด เพราะจำเลยเป็นเพียงพนักงานลูกจ้างในฝ่ายธุรการ กระทำการตามหน้าที่ของฝ่ายธุรการและตามคำสั่งของนายจ้าง โดยรับเพียงเงินเดือนตามที่ลูกจ้างพึงได้รับ จำเลยไม่เคยได้รับค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนอื่นจากการประกอบธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ และไม่เคยได้รับส่วนแบ่งหรือประโยชน์อย่างอื่นจากการประกอบธุรกิจ หลักทรัพย์และไม่ปรากฏว่าจำเลยเข้าไปตกลงทำสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ใด ๆ กับนักลงทุนชาวต่างชาติรวมถึงผู้เสียหายทั้งสี่ จำเลยไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือมีอำนาจในการออกกฎระเบียบหรือข้อบังคับใน เบนสัน ดูปองท์ มอร์แกน แปซิฟิคและบริษัททั้งหมด การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เข้าลักษณะของการกระทำความผิดหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์จะได้ความว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ทั้งห้าหลักทรัพย์ตามฟ้องและกลุ่มบรินตั้นก็ตาม แต่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวในขั้นตอนการส่งเอกสารสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และการยืนยันการซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งการแจ้งการชำระราคาค่าหลักทรัพย์แก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มบรินตั้น โดยจำเลยเป็นผู้ประสานงานกับบริษัท Net Commerce Inc. และบริษัทดังกล่าวได้ส่งสัญญาซื้อหลักทรัพย์และแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระมายังจำเลย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเบนสัน ดูปองท์ ได้มีการโอนเงินชำระให้แก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือกลุ่มบรินตั้นแล้ว จำเลยก็จะเป็นผู้แจ้งการชำระเงินดังกล่าวไปยังบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มบรินตั้น นอกจากนี้ในขั้นตอนการออกใบหุ้น จำเลยยังเป็นผู้แจ้งให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ออกใบหุ้นในชื่อเบนสัน ดูปองท์ และจำเลยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มบรินตั้นในการออกใบหุ้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวศุภญาพยานโจทก์ว่า พยานมีหน้าที่ในการติดต่อให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าของเบนสัน ดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิค จำเลยเป็นหัวหน้าของพยานและจะเป็นผู้สั่งพยานว่าจะต้องติดต่อไปยังบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ใดเพื่อให้ออกใบหุ้น ในบางครั้งจำเลยจะเป็นผู้ร่างข้อความแล้วนำมาให้พยานพิมพ์ข้อความนั้นแล้วส่งไป โดยที่หัวกระดาษที่ใช้ในการทำงานและอีเมลแอดเดรสที่ใช้ในการติดต่อบริษัทที่ออกหลักทรัพย์กลุ่มบรินตั้น และลูกค้านั้นระบุชื่อเบนสัน ดูปองท์ ไม่ใช่ชื่อเมสัน ทอมป์สัน หรือบริษัททักษิณ เอ็กซ์เพรส จำกัด ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ความจากนางสาวศุภญาตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับงาน พยานจะสอบถามจำเลย หากจำเลยไม่รู้ก็จะสอบถามนายไทเลอร์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้บริหารระดับสูงและมีอำนาจตัดสินใจรองลงมาจากนายไทเลอร์ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาวสราญจิตว่า ก่อนที่พยานจะเข้าทำงาน จำเลยเป็นผู้ดูแลบัญชีค่าใช้จ่ายของเมสัน ทอมป์สัน แม้ในภายหลังจำเลยได้มอบหมายให้พยานเป็นผู้ดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายแทนตน แต่จำเลยก็ยังคงเป็นผู้ตรวจบัญชีค่าใช้จ่ายที่พยานจัดทำเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาโท มีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ย่อมชี้ให้เห็นว่า จำเลยร่วมรับรู้ถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเบนสันดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิค ตลอดมา พิจารณาจากที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าที่ทำการของเบนสัน ดูปองท์ ที่ชั้น 23 อาคารซีพีทาวเวอร์ ถนนสีลม แขวงสีลมเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร อันเป็นสถานประกอบการของบริษัทเซอร์ฟคอร์ป จำกัด โดยจำเลยเช่าที่อยู่ดังกล่าวและหมายเลขโทรศัพท์จากบริษัทเซอร์ฟคอร์ป จำกัด แสดงให้เห็นว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการทั่วไปย่อมต้องรู้ว่าเบนสัน ดูปองท์ เช่าอาคารและหมายเลขโทรศัพท์เพื่อดำเนินงานติดต่อธุรกิจของเบนสัน ดูปองท์ ซึ่งก็คือการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์นั้นเอง แสดงว่าจำเลยมิใช่พนักงานธุรการของเบนสัน ดูปองท์ แต่จำเลยเป็นตัวแทนเบนสัน ดูปองท์ สามารถทำการแทนเบนสัน ดูปองท์ ตั้งแต่การเช่าสถานที่ตั้งที่ทำการของเบนสัน ดูปองท์ รวมทั้งการซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มบรินตั้นแล้วนำมาจำหน่ายต่อให้แก่นักลงทุน รวมทั้งการออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าด้วย ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิใช่ผู้ติดต่อซื้อหุ้น ตกลงราคาค่าหุ้น และกำหนดจำนวนหุ้นที่จะซื้อจากบริษัท Net Commerce Inc. มาแต่ต้นจริง จำเลยมีหน้าที่เพียงแต่การรับส่งเอกสารเท่านั้น ในข้อนี้เห็นว่า นางสาวดวงพร พยานโจทก์ได้เบิกความไว้ชัดเจนแล้วว่า ในการดำเนินการของเบนสัน ดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิค ได้แบ่งแยกหน้าที่ของพนักงานออกจากกันอย่างชัดเจน แบ่งแยกกันทำเป็นขั้นตอนและขบวนการ กล่าวคือ พนักงานที่เรียกว่า TQ มีหน้าที่โทรศัพท์ชักชวนนักลงทุนให้ซื้อหลักทรัพย์ เมื่อนักลงทุนรายใดสนใจที่จะลงทุนซื้อหลักทรัพย์พนักงานที่เรียกว่า OPENER จะเป็นผู้ติดต่อกับนักลงทุนเหล่านั้น พนักงานที่เรียกว่า COOLER จะเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือตอบปัญหาในเชิงลึกแก่นักลงทุน ส่วนจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในขั้นตอนการส่งเอกสารสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และการยืนยันการซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งการแจ้งการชำระราคาค่าหลักทรัพย์แก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ แม้จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ แต่จำเลยก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อหลักทรัพย์ในขั้นตอนการส่งเอกสารสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และการยืนยันซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งการแจ้งชำระราคาค่าหลักทรัพย์แก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มบรินตั้น โดยจำเลยเป็นผู้ประสานงานกับบริษัท Net Commerce Inc. เมื่อเบนสัน ดูปองท์ โอนเงินชำระให้แก่ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือกลุ่มบรินตั้นแล้ว จำเลยก็เป็นผู้แจ้งการชำระเงินดังกล่าวไปยังบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มบรินตั้น พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยกับบุคคลที่ยังไม่ปรากฏชัดเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยอ้างว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นั้น เป็นการกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องและที่โจทก์นำสืบในการพิจารณาเป็นการกระทำความผิดซึ่งเหตุเกิดที่แขวงสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร และตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวพันกัน จึงเป็นความผิดที่กระทำลงในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การสอบสวนจึงต้องดำเนินการโดยคณะพนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 597/2544 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยมีพลตำรวจโทชัชจ์ เป็นหัวหน้างานสืบสวนสอบสวน ดังนั้น พลตำรวจโทชัชจ์จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในข้อหานี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 แต่ในคดีนี้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจัดการอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 ทั้งในความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นความผิดที่กระทำในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 ส่วนความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดที่การกระทำส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักร ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคหนึ่ง อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะทำหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดีนี้ทั้งสองฐานความผิดได้ เมื่อการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (6), 18, 140 และมาตรา 120 เห็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 นางสาวดวงพรกับนางสาวปฐมาภรณ์ และ พันตำรวจโทชัดชัย กับพวกได้นำหมายค้นของศาลไปตรวจค้นที่บริษัทอัศวินเอ็กซ์เพรส จำกัด ตั้งอยู่ที่อาคารเศรษฐีวรรณ เลขที่ 139 ชั้น 19 ถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พบพนักงานของบริษัทและเอกสารแนะนำที่มีชื่อของเบนสัน ดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิคและใบเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์ ในวันเดียวกันนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งพันตำรวจโทอดุลย์ กับพันตำรวจโทชัดชัยและเจ้าพนักงานตำรวจอีกหลายคนให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 597/2544 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และในวันดังกล่าวนางสาวดวงพรในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษเบนสัน ดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิค หลังจากนั้นนางสาวดวงพรและพันตำรวจโทอดุลย์กับพวกได้เข้าตรวจค้นที่โกดังของบริษัทคลังสินค้าเอเชียธนะวัฒน์ จำกัด พบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเบนสันดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิค จำนวนมากแล้วตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข้อมูลและเอกสารจึงทราบว่า เบนสัน ดูปองท์ หรือเบนสัน ดูปองท์ แคปปิตอล เมเนจเม้นท์ อิงค์ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน นางสาวเจนิเฟอร์ ภริยานายไทเลอร์ เจ้าของเบนสัน ดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิค ได้ขอจดทะเบียนจัดตั้ง เมสัน ทอมป์สัน เป็นสำนักงานผู้แทนในประเทศไทยโดยมีจำเลยเป็นผู้เช่าอาคารสำนักงานเพื่อเป็นสำนักงานของเบนสัน ดูปองท์และเช่าบริการหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่กับบริษัทเซอร์ฟคอร์ป จำกัด บริษัทไอยราธุรกิจ จำกัด บริษัทเวียงฟ้าธุรกิจ จำกัด เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการดำเนินงานในนามของเบนสัน ดูปองท์ และมอร์แกน แปซิฟิค บริษัททั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกันโดยมีพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทเหล่านั้นเป็นพนักงานชุดเดียวกัน ทั้งยังมีการใช้บริษัทเหล่านี้ในการจัดส่งเอกสารแนะนำบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามฟ้อง จึงเท่ากับยืนยันว่าจำเลยร่วมกันกระทำผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในราชอาณาจักร เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่เพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด เมื่อพบเอกสารและความเชื่อมโยงบริษัทดังกล่าวในข้างต้นในการดำเนินการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจนในที่สุดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งพันตำรวจโทอดุลย์กับพันตำรวจโทชัดชัยและเจ้าพนักงานอีกหลายคนให้เป็นคณะพนักงานสืบสวน ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 597/2544 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งได้ความจากพยานโจทก์ต่อไปอีกว่าพันตำรวจโทอดุลย์กับพวกได้สอบคำให้การพยานที่เกี่ยวข้องและได้รวบรวมข้อเท็จจริงคดีนี้โดยสอบคำให้การผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 และพยานอีก 4 ปาก ที่ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างทำการสอบสวนพันตำรวจโทอดุลย์เห็นว่า คดีนี้เป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 แต่ได้กระทำนอกราชอาณาจักรไทย จึงเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 597/2544 เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในคดีนี้ และต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 อัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้เพิ่มเติม เห็นว่า เฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบยืนยันว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกล่าวคือ ชักชวนให้นักลงทุนซื้อหลักทรัพย์โดยในระหว่างผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียได้มีโทรศัพท์ทางไกลจากชาวต่างชาติซึ่งอ้างว่า เป็นที่ปรึกษาการลงทุนโทรศัพท์จากเบนสัน ดูปองท์ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยชักชวนให้ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ตามฟ้องโดยอ้างว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ดีมากและจะทำกำไรได้มาก โดยไม่ได้แจ้งว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่มีข้อจำกัดตามกฎหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสี่หลงเชื่อสั่งซื้อหลักทรัพย์ตามฟ้องจำนวนหลายครั้งโดยได้โอนเงินชำระราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวและค่าธรรมเนียมในการซื้อขายเข้าบัญชีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดของเบนสัน ดูปองท์ แคปปิตอล เมเนจเม้นท์ อิงค์ ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง การกระทำดังกล่าวทั้งหมดตั้งแต่โทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย จนกระทั่งผู้เสียหายทั้งสี่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดของเบนสัน ดูปองท์ แคปปิตอล เมเนจเม้นท์ อิงค์ ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จึงเป็นความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 บัญญัติว่า ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ เมื่อคดีนี้พันตำรวจโทอดุลย์เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 อัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 597/2544 เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในคดีนี้ ถือว่าคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้มีอำนาจทำการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดี ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น