Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ .สิทธิของผู้ครอบครองในที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเกี่ยวกับการรบกวนการครอบครอง

.สิทธิของผู้ครอบครองในที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเกี่ยวกับการรบกวนการครอบครอง

4703

สิทธิของผู้ครอบครองในที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเกี่ยวกับการรบกวนการครอบครอง

เกี่ยวกับการถูกรบกวนการครอบครองในทรัพย์สินต่างๆ ที่มีเพียงสิทธิครอบครองนั้นจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1374 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน”

โดยเกี่ยวกับกฎหมายในมาตรานี้จะเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อรองรับสิทธิครอบครองโดยให้ผู้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ อันเป็นบทบัญญัติให้มีผลในลักษณะเดียวกับมาตรา 1336 ของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ที่มีสิทธิที่จะเข้าขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ โดยการรบกวนการครอบครองในกรณีตามมาตรา 1374 นี้ หมายความว่าเจ้าของที่ดินที่มีสิทธิครอบครองอาจถูกรบกวนการครอบครองโดย เสียง หรือการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินของผู้ครอบครองทำให้ผู้ครอบครองไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ทรัพย์สินนั้น เช่น การที่มีบุคคลอื่นเข้ามาใช้ทรัพย์สินของผู้ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ครอบครองที่ดินนั้นก็ย่อมมีสิทธิที่จะให้ปลดเปลื้องการรบกวนได้ทันทีโดยไม่จำต้องถึงขั้นดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล แต่หากว่าผู้รบกวนการครอบครองนั้นยังคงขัดขืนหรือโต้แย้งสิทธิของผู้ครองครองที่ดินดังกล่าวอยู่ ผู้ครอบครองก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลให้ดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้รบกวนการครอบครองดังกล่าวได้ โดยระยะเวลาในการฟ้องร้องให้ปลดเปลื้องการครอบครองนั้นจะมีกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1375 ตัวอย่างเช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2537 ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า น. สละการครอบครองและจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่พิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จำเลยทั้งสองได้สิทธิครอบครองแล้วนั้น ฎีกาประเด็นดังกล่าวจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ. 2511 ก็ตาม โจทก์คงมีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวได้ ส่วนจะได้กรรมสิทธิ์หรือไม่เพียงใดเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์ แต่ราษฎรด้วยกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1374 ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

สรุป สิทธิตามมาตรา 1374 ของผู้ครอบครองก็เป็นเหมือนสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของกรรมสิทธิ์ มาตรา 1336

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments