Home ข่าวสาร หลักการใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาอายุความในคดีรับเหมาก่อสร้าง

หลักการใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาอายุความในคดีรับเหมาก่อสร้าง

663

หลักการใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาอายุความในคดีรับเหมาก่อสร้าง

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 5,739,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 สิงหาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,732,712 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 สิงหาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นนี้

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า คำให้การของจำเลยทั้งสามก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเมื่อใดและนับแต่วันใดถึงวันฟ้อง ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและละเมิด แต่ก็เห็นได้ชัดว่า เป็นการฟ้องร้องว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตกแต่งและต่อเติมอาคารบ้านพิพาท แล้วจำเลยที่ 1 ทำงานบกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ อันต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยจ้างทำของ จำเลยทั้งสามทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจึงได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่ได้รับจ้างให้โจทก์เรียบร้อย และโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อมาโดยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยทั้งสามจึงต้องกล่าวในคำให้การส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้แก่โจทก์เมื่อใด และโจทก์พบความชำรุดบกพร่องของงานที่จ้างวันใด แต่จำเลยทั้งสามกลับให้การในส่วนนี้เพียงว่า โจทก์อ้างว่าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ต่อเติมและตกแต่งอาคารบ้านพิพาท 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 และวันที่ 24 มีนาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเรียกร้อง เช่นนี้ เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าขาดอายุความในเรื่องใด และอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา

ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยขณะฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด แม้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนภายหลังก็ต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080,1087 ส่วนจำเลยที่ 3 แม้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080, 1087 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์

สรุป

แม้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและละเมิด แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นการฟ้องว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตกแต่งและต่อเติมอาคารพิพาท แล้วจำเลยที่ 1 ทำงานบกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ อันต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยจ้างทำของ จำเลยทั้งสามทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจึงให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่ได้รับจ้างให้โจทก์เรียบร้อยและโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อมาโดยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยทั้งสามต้องกล่าวในคำให้การส่วนนี้ให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้แก่โจทก์เมื่อใด และโจทก์พบความชำรุดบกพร่องของงานที่จ้างวันใด แต่จำเลยทั้งสามกลับให้การในส่วนนี้เพียงว่า โจทก์อ้างว่าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ต่อเติมและตกแต่งอาคารพิพาท 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 และวันที่ 24 มีนาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 21 สิงหาคม 2541 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เช่นนี้ เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าขาดอายุความในเรื่องใด และอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความที่คู่ความจะต้องนำสืบ

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยขณะฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด แม้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนภายหลังก็ต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080, 1087 ส่วนจำเลยที่ 3 แม้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080, 1087

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments