Home บทความคดีแพ่ง การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนที่ผิดฉ้อโกงประชาชน ศาลพิจารณาจากจุดใด

การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนที่ผิดฉ้อโกงประชาชน ศาลพิจารณาจากจุดใด

1509

การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนที่ผิดฉ้อโกงประชาชน ศาลพิจารณาจากจุดใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 34, 83, 91, 269/5, 269/7, 341, 342, 343 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายแต่ละรายตามเอกสารสรุปยอดเงินของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 22 และริบของกลางตามบัญชีของกลางและบัญชีของกลางเพิ่มเติมทั้งหมด ยกเว้นตามบัญชีของกลางรายการที่ 5, 8, 10, 12 และ 15

จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 342 (1), 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 28 กระทงจำคุกจำเลยทั้งสี่กระทงละ 5 ปี เป็นจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 140 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 70 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 20 ปี ตามมาตรา 91 (2) ริบของกลางตามบัญชีของกลางและบัญชีของกลางคดีอาญาเพิ่มเติมเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 ยกเว้นของกลางรายการที่ 5, 8, 10, 12 และ 15 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 50,033.82 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 77,551.75 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 189,179.40 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 75,580.96 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 20,119.62 บาทผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 7,581.91 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 140,174.93 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 82,060.30 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 110,087.96 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 111,197.40 บาท ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 13,800.88 บาท ผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 108,312.10 บาท ผู้เสียหายที่ 13 จำนวน 41,270.38 บาท ผู้เสียหายที่ 14 จำนวน 300,273.40 บาท ผู้เสียหายที่ 15 จำนวน 30,021.88 บาท ผู้เสียหายที่ 16 จำนวน 9,014 บาท ผู้เสียหายที่ 17 จำนวน 40,458 บาท ผู้เสียหายที่ 18 จำนวน 125,959.65 บาท ผู้เสียหายที่ 19 จำนวน 199,898.96 บาท ผู้เสียหายที่ 20 จำนวน 88,225.88 บาท ผู้เสียหายที่ 21 จำนวน 64,505.54 บาท และผู้เสียหายที่ 22 จำนวน 131,479.95 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง คดีนี้จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกตามฟ้องที่จัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ (Call Center) ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่าระบบ Voice Over Internet Protocol (VOIP) ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกแล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน (Password) หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก (LOCK) บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนแล้วเมื่อจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ และความผิดฐานดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 หาใช่เป็นความผิดเพียงฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 342 (1) ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคสอง ประกอบมาตรา 342 (1), 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

 

Facebook Comments