Home บทความคดีแพ่ง จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยข้อยกเว้นความผิดในคดีหมิ่นประมาท

จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยข้อยกเว้นความผิดในคดีหมิ่นประมาท

972

จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัยข้อยกเว้นความผิดในคดีหมิ่นประมาท

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 327, 328 และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาบางส่วนในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นเวลา 7 วัน ต่อเนื่องกัน

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้องเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ไว้พิจารณา ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 327 ให้ยกฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังว่า โจทก์เป็นภริยาที่ไม่จดทะเบียนสมรสของกำนันตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม บุตรชายโจทก์เปิดร้านเกมได้รับอนุญาตตามกฎหมายภายในบริเวณบ้านโจทก์ จำเลยทำหนังสือถึงสารวัตรใหญ่หัวหน้าสถานีตำรวจราษฎร์เจริญ ตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีใจความว่า มีเด็กนักเรียนมั่วสุมติดตู้เกมที่ร้านเกมซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนันตำบลเมืองเตา

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคสอง จะห้ามไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ว่า ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนก็ตาม แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างแล้วว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนนั้น เป็นการส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อขอให้ดูแลกวดขันร้านเกมเพราะจำเลยเห็นว่ามีเด็กนักเรียนเข้าไปมั่วสุมติดเกมไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจงาน อันเป็นการแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นโดยสุจริตด้วยความชอบธรรมป้องกันตนและส่วนได้เสียของตน ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยมีสิทธิทำหนังสือดังกล่าวได้ ดังนั้น ข้อความในหนังสือร้องเรียนของจำเลยจึงต้องพิจารณารวมกันทั้งฉบับ จะพิจารณาแยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อพิจารณาว่าส่วนใดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยแยกจากกันหาได้ไม่ เว้นแต่ข้อความดังกล่าวจะเห็นได้โดยชัดเจนว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียนหรือเห็นเจตนาของจำเลยโดยชัดแจ้งว่า มีเจตนาจะใส่ความโจทก์เป็นการเฉพาะ และเมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยส่งหนังสือร้องเรียนโดยนำหนังสือร้องเรียนใส่ในซองจดหมายซึ่งระบุชื่อและที่อยู่ผู้รับ คือ สารวัตรใหญ่อันเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ อันเป็นตำแหน่งที่มีผู้รับเอกสารของจำเลยโดยแน่ชัดเพียงคนเดียวมิได้มีเจตนาให้ข้อความดังกล่าวแพร่หลายออกไป ส่วนในหนังสือร้องเรียนที่โจทก์อ้างว่า มีข้อความที่หมิ่นประมาท คือ ข้อความที่ว่า ตู้เกมตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน แต่ในบรรทัดถัดมาของหนังสือร้องเรียน มีข้อความว่า “พวกพ่อแม่เด็กนักเรียน เยาวชนได้แต่มองดูแล้วก็พูดอะไรไม่ได้ เพราะตู้เกมตั้งอยู่บ้านกำนันเลยก็ว่าได้ พ่อแม่ของเด็กไม่มีที่พึ่ง มีหลายคนไปหาผม บอกให้ผมทำหนังสือมาหาท่าน…” อันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ต้องการให้เจ้าพนักงานตำรวจกวดขันดูแลจับกุม มิให้เด็กนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติไปถูกมอมเมาและมั่วสุมทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและครอบครัวเท่านั้น เนื่องจากทราบกันดีว่าแหล่งมั่วสุมทุกแห่งล้วนแต่เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนก่อให้เด็กและเยาวชนไปกระทำสิ่งที่เสียหายแก่ตนเอง ครอบครัวสังคม หรือไปกระทำความผิดอื่นได้โดยง่าย นอกจากนี้ในหนังสือของจำเลยดังกล่าว นอกจากร้องเรียนเกี่ยวกับการมีตู้เกมแล้ว ยังให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า สาเหตุที่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมิได้กวดขันดูแล เป็นเพราะสาเหตุใด ผู้ปกครองของเด็กไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานในท้องที่ได้แล้ว จึงได้ทำหนังสือมาแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น แม้ข้อมูลบางอย่างจะเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเลยมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียน การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

ในความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้ตาม ป.อ. มาตรา 330 วรรคสอง จะห้ามไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ว่า ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนก็ตาม คดีนี้โจทก์เป็นภริยาที่ไม่จดทะเบียนสมรสของ ป. กำนัน บุตรชายโจทก์เปิดร้านเกมได้รับอนุญาตตามกฎหมายภายในบริเวณบ้านโจทก์ จำเลยทำหนังสือถึงสารวัตรใหญ่หัวหน้าสถานีตำรวจว่า มีเด็กนักเรียนมั่วสุมติดตู้เกมที่ร้านเกมซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน ข้อความที่จำเลยร้องเรียนนั้น เป็นการส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อขอให้ดูแลกวดขันร้านเกมเพราะจำเลยเห็นว่ามีเด็กนักเรียนเข้าไปมั่วสุมติดเกมไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจงาน อันเป็นการแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นโดยสุจริตด้วยความชอบธรรมป้องกันตนและส่วนได้เสียของตน ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยมีสิทธิทำหนังสือดังกล่าวได้ ข้อความในหนังสือร้องเรียนของจำเลยต้องพิจารณารวมกันทั้งฉบับ จะพิจารณาแยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อพิจารณาว่าส่วนใดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยแยกจากกันหาได้ไม่ เว้นแต่ข้อความเห็นได้โดยชัดเจนว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียนหรือเห็นเจตนาของจำเลยโดยชัดแจ้งว่า มีเจตนาจะใส่ความโจทก์เป็นการเฉพาะ และเมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยแล้วจำเลยส่งหนังสือร้องเรียนโดยนำหนังสือร้องเรียนใส่ในซองจดหมายซึ่งระบุชื่อและที่อยู่ผู้รับสารวัตรใหญ่อันเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจฯ อันเป็นตำแหน่งที่มีผู้รับเอกสารของจำเลยโดยแน่ชัดเพียงคนเดียวมิได้มีเจตนาให้ข้อความดังกล่าวแพร่หลายออกไป ส่วนในหนังสือร้องเรียนที่โจทก์อ้างว่า มีข้อความที่หมิ่นประมาทว่า ตู้เกมตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน แต่ในบรรทัดถัดมาของหนังสือร้องเรียน มีข้อความว่า “พวกพ่อแม่เด็กนักเรียน เยาวชนได้แต่มองดูแล้วก็พูดอะไรไม่ได้ เพราะตู้เกมตั้งอยู่บ้านกำนันเลยก็ว่าได้ พ่อแม่ของเด็กไม่มีที่พึ่ง มีหลายคนไปหาผม บอกให้ผมทำหนังสือมาหาท่าน…” อันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ต้องการให้เจ้าพนักงานตำรวจกวดขันดูแลจับกุม มิให้เด็กนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติไปถูกมอมเมาและมั่วสุมทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและครอบครัวเท่านั้น นอกจากนี้ในหนังสือของจำเลยยังให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า สาเหตุที่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมิได้กวดขันดูแล เป็นเพราะสาเหตุใด ผู้ปกครองของเด็กไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานในท้องที่ได้แล้ว จึงได้ทำหนังสือมาแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แม้ข้อมูลบางอย่างจะเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเลยมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียน การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

ปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานนคร สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ทนายความ
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4 (อยู่ระหว่างซอย10 และซอย 8)
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/
Facebook Comments