กรณีคนต่างด้าวเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๗๑๘ บุคคล ต่อไปนี้ จะเป็น ผู้จัดการมรดก ไม่ได้
(๑) ผู้ซึ่ง ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(๒) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคล ซึ่ง ศาลสั่งให้เป็น ผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(๓) บุคคล ซึ่ง ศาลสั่งให้เป็น คนล้มละลาย
แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลต่างด้าว แต่ผู้ร้องก็ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ที่จะจัดการมรดกของผู้ตาย ฉะนั้นการที่ผู้ร้องเป็นบุคคลต่างด้าวจึงหาเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกของผู้ตายแต่อย่างใดไม่เมื่อผู้ร้องเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย
โดยกรณีตามประเด็นดังกล่าวนี้มีคำพิพากษาตัวอย่างดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๒๖/๒๕๔๑
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมนายมงคล แพรักขกิจ สมรสกับนางเรณุ แพรักขกิจมีบุตรด้วยกัน 6 คน หลังจากนางเรณูถึงแก่กรรมนายมงคลจึงจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้อง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2538นายมงคลถึงแก่กรรมโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์มรดกของนายมงคลจึงตกเป็นของผู้ร้องกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย การจัดการมรดกเป็นเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายมงคลผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลต่างด้าวเพิ่งแต่งงานใหม่ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายผู้คัดค้านเป็นบุตรคนโตของผู้ตาย ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเห็นชอบให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายมงคลผู้ตายแต่เพียงฝ่ายเดียว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นางซู่หย่วน แพรักขกิจ ผู้ร้องกับนางสุขใจ พานิชพันธ์ ผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายมงคล แพรักขิกจ ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเดิมผู้ตายสมรสกับนางเรณู แพรักขกิจ มีบุตรด้วยกัน 6 คนผู้คัดค้านเป็นบุตรคนโต เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2519 นางเรณูถึงแก่ความตาย ผู้ตายจึงจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2522 และอยู่กินด้วยกันตลอดมาจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.3ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด สาขาหัวหมาก เงินฝากในธนาคารพาณิชย์สากลแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หุ้นในบริษัทร่วมเสริมกิจ จำกัด(มหาชน) และในบริษัทหลักทรัพย์วชิระธนทุน จำกัด ก่อนตายผู้ตายมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากในการจัดการมรดกของผู้ตายผู้ร้องไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นเห็นว่า แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลต่างด้าว แต่ผู้ร้องก็ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ที่จะจัดการมรดกของผู้ตาย ฉะนั้นการที่ผู้ร้องเป็นบุคคลต่างด้าวจึงหาเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกของผู้ตายแต่อย่างใดไม่เมื่อผู้ร้องเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องจึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านในส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องมีความขัดแย้งกับทายาทคนอื่นนั้น ฎีกาข้อนี้ผู้คัดค้านไม่เคยยกขึ้นว่ากล่าวแต่ศาลชั้นต้นศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
ดังนั้นพอสรุปได้ว่าบุคคลต่างด้าว ไม่ได้เป็นบุคลต้องห้ามตามกฎหมาย ฉะนั้นบุคคลต่างด้าวจึงเป็นผู้จัดการมรดกได้