Home คดีอาญา ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะ ศาลฎีกาคำนวณจากอะไรบ้าง

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะ ศาลฎีกาคำนวณจากอะไรบ้าง

1505

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน

จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท และพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ให้ถือสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 975,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งเก้ามิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า นางสาวมัศยา ผู้ตาย เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ทย-3898 กรุงเทพมหานคร และนำรถเข้าร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามสัญญารถร่วมกับสหกรณ์ โดยจำเลยที่ 2 นำรถยนต์แท็กซี่ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ทย-3898 กรุงเทพมหานคร ไปประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 เป็นผู้ขับรถยนต์สามล้อเครื่อง หมายเลขทะเบียน 1ส-2634 กรุงเทพมหานคร ที่ผู้ตายกับเพื่อนนั่งโดยสารมาในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์สามล้อเครื่อง หมายเลขทะเบียน 1ส-2634 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ เป็นผู้ครอบครองรถยนต์สามล้อเครื่อง หมายเลขทะเบียน 1ส-2634 กรุงเทพมหานคร และเป็นผู้เอาประกันภัยรถคันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 9 ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2556 ผู้ตายและนายวชิระ โดยสารรถยนต์สามล้อเครื่อง หมายเลขทะเบียน 1ส-2634 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขับไปตามถนนเพชรบุรีจากราชเทวีไปทางประตูนํ้าตามช่องเดินรถขวาสุดติดกับช่องเดินรถสวน เมื่อถึงบริเวณหน้าห้างพันธ์ทิพย์พลาซ่าที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 5 ขับรถเลี้ยวขวาเพื่อกลับรถมุ่งหน้าไปทางราชเทวีซึ่งเป็นบริเวณห้ามเลี้ยวหรือกลับรถ ในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ทย-3898 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกันกับรถยนต์สามล้อเครื่องคันที่จำเลยที่ 5 ขับเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขณะผู้ตายถึงแก่ความตายอายุ 24 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปีสุดท้ายใกล้จบการศึกษา ตามระเบียนประวัติ

ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่สูงเกินไปเนื่องจากขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายมีอายุ 23 ถึง 24 ปี โจทก์ที่ 1 มีอายุ 53 ปี โจทก์ที่ 2 มีอายุ 45 ปี หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายจะประกอบอาชีพมีรายได้มากน้อยเพียงใดไม่อาจคาดหมายได้แน่นอนและยังมีภาระต้องใช้จ่ายในการดำรงชีพของตนเองจะมีเงินเหลือเพื่อแบ่งปันรายได้เดือนละ 5,000 บาท เพื่ออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองได้เพียงใดก็ไม่แน่นอนเช่นกัน อีกทั้งไม่มีเหตุผลรองรับได้ว่าโจทก์ทั้งสองจะมีอายุยืนยาวได้อีก 20 ปี ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ควรเกินจำนวน 200,000 บาท เห็นว่า การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคท้าย ย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายกำลังใกล้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในระหว่างนั้นโจทก์ที่ 1 มีอายุ 53 ปี และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 45 ปี หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายย่อมมีโอกาสจบการศึกษาและประกอบอาชีพมีรายได้พอสมควร ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณากำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี นับว่าเหมาะสมตามสมควรและตามฐานะของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสองแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เนื่องจากรถยนต์แท็กซี่ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ทย-3898 กรุงเทพมหานคร มีการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไว้กับจำเลยที่ 4 ซึ่งให้ความคุ้มครองกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิตจำนวน 200,000 บาท ต่อคน และตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจสำหรับกรณีบุคคลภายนอกเสียชีวิตจำนวน 300,000 บาท ต่อคน จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในวงเงิน 500,000 บาท จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในยอดเงินดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสองโดยตกลงชดใช้เงินจำนวน 300,000 บาท ย่อมไม่เต็มจำนวนความรับผิดตามความคุ้มครองที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยมีต่อจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ทย-3898 กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือผู้ใช้ จ้างวาน หรือผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำการร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ทย-3898 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์สามล้อเครื่องคันที่จำเลยที่ 5 ขับจนเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด และโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์แท็กซี่ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ทย-3898 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 4 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่สัญญา การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 4 ยินยอมใช้เงินจำนวน 300,000 บาท เป็นการระงับหนี้อันเกิดแต่สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ ส่วนจำนวนเงินที่ยังไม่เต็มตามความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับจำเลยที่ 4 และดอกเบี้ยตามกฎหมายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จที่จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัยตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่ประการใด ย่อมไม่อาจให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกา เนื่องจากจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตจะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายกำลังใกล้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในระหว่างนั้นโจทก์ที่ 1 มีอายุ 53 ปี และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 45 ปี หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายย่อมมีโอกาสจบการศึกษาและประกอบอาชีพมีรายได้พอสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี นับว่าเหมาะสมตามสมควรและตามฐานะของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสองแล้ว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือผู้ใช้ จ้างวาน หรือผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำการร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์สามล้อเครื่องที่จำเลยที่ 5 ขับจนเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด และโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์แท็กซี่จากจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 4 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่สัญญา การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 4 ยอมใช้เงิน 300,000 บาท เป็นการระงับหนี้อันเกิดแต่สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ ส่วนจำนวนเงินที่ยังไม่เต็มตามความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามสัญญาประกันภัยตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. ย่อมไม่อาจให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเนื่องจากจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

iber.me/tanai-athip

สำนักงานทนายฟ้องประกัน
มีปัญหาคดีความโทรปรึกษา โทร 061-939-9935
Facebook Comments