Home ข่าวสาร จุดที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาความผิดฐานฉ้อโกงในคดีรับเหมาก่อสร้าง

จุดที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาความผิดฐานฉ้อโกงในคดีรับเหมาก่อสร้าง

1010

จุดที่ศาลฎีกาใช้พิจารณาความผิดฐานฉ้อโกงในคดีรับเหมาก่อสร้าง

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาติดต่อว่าจ้างโจทก์เป็นผู้ก่อสร้างชุมสายเคลื่อนที่บางพลีขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยบอกว่าจำเลยที่ 1 ได้ประมูลการก่อสร้างชุมสายเคลื่อนที่บางพลีจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในราคาทั้งหมด 309,000 บาท จึงให้โจทก์ไปทำการก่อสร้าง เพราะจำเลยไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ หากโจทก์ตกลงจำเลยจะทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อและรับเงินจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแต่ผู้เดียว โจทก์จึงตกลงไปทำการก่อสร้างให้ จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจติดต่อไต่ถามและวางบิลเก็บเงิน รับเงินและถอนเงินได้แต่ผู้เดียวโจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับมอบงานไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ไปติดต่อขอรับเงินค่าก่อสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างและถูกจำเลยที่ 1 ไล่ออกแล้ว จึงขอรับหนังสือมอบอำนาจคืนพร้อมขอรับเงินค่าก่อสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปแล้วจำนวน 281,358 บาท โดยหักภาษีเมื่อตอนเช้าวันเดียวกันนั้นเอง โดยจำเลยที่ 4 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และที่ 2ทำให้โจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าจ้างในส่วนนี้และเงินค่าจ้างส่วนที่เหลืออีกประมาณ 15,000 บาท ต่อมาโจทก์สืบทราบว่าจำเลยทั้งห้าได้สมคบกันโดยเจตนาทุจริต กล่าวคือจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ไว้และให้จำเลยที่ 4และที่ 5 ไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยที่ 3 ก็ทราบดี เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับเช็คชำระหนี้จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารทหารไทย จำกัดสาขาราชดำเนิน ในนามจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมกับมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 มีอำนาจเบิกจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ด้วย หลังจากนั้นจำเลยทั้งห้าได้สมคบกันโดยจำเลยที่ 4 ได้เบิกเงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาราชดำเนิน มาเป็นประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่นจนหมด การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1และที่ 2 ไว้ชั่วคราว เนื่องจากยังไม่ได้ตัวมาศาล ให้พิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 3และที่ 5 คนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 ให้จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งห้า โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ในเบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการเป็นผู้ประมูลงานก่อสร้างชุมสายเคลื่อนที่บางพลีได้จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ต่อมาจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ติดต่อให้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างชุมสายเคลื่อนที่ดังกล่าวโดยมีข้อเสนอว่า จำเลยที่ 1จะทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อและรับเงินจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวและจะไม่เกี่ยวข้องกับการรับเงิน ทั้งไม่เคยมอบอำนาจและจะไม่มอบอำนาจให้ผู้ใดไปรับเงินนั้น โจทก์จึงตกลงก่อสร้างชุมสายเคลื่อนที่ดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้วางบิลเก็บเงินค่าก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาเมื่อโจทก์ก่อสร้างเสร็จแล้วได้ไปติดต่อขอรับเงินจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงทราบว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่า โจทก์เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ถูกไล่ออกไปแล้ว พร้อมกันนั้นจำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้ขอรับเงินค่าก่อสร้างไปจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้ว ทำให้โจทก์ไม่สามารถรับเงินค่าก่อสร้างดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาผู้รับเหมาก่อสร้างชุมสายเคลื่อนที่บางพลีกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยตรง แม้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างชุมสายดังกล่าวจนเสร็จแต่โจทก์เป็นเพียงผู้รับงานก่อสร้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 1มาอีกทอดหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยยังคงมีสิทธิรับเงินค่าก่อสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้โดยตรง ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อและรับเงินค่าก่อสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และต่อมาจำเลยที่ 1 เพิกถอนใบมอบอำนาจที่ให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 รับเงินนั้นไปจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ต่อมาโจทก์สืบทราบว่าจำเลยทั้งห้าได้สมคบกันโดยเจตนาทุจริตก็เป็นเรื่องที่บรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ไม่ทำให้คดีผิดสัญญาทางแพ่งกลับกลายเป็นคดีอาญาการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องโจทก์ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง”

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างชุมสายเคลื่อนที่กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แม้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างชุมสายดังกล่าวจนเสร็จ แต่โจทก์ก็เป็นเพียงผู้รับงานก่อสร้างมาจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะคู่สัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยตรง แม้จำเลยที่ 1 จะได้ทำหนังสือมอบให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อและรับเงินค่าก่อสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 เพิกถอนใบมอบอำนาจที่ให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 รับเงินนั้นไปจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าต่อมาโจทก์สืบทราบว่า จำเลยทั้งห้าได้สมคบกันโดยเจตนาทุจริตเป็นเรื่องที่บรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงไม่ทำให้คดีผิดสัญญาทางแพ่งกลับกลายเป็นคดีอาญา การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องโจทก์ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

  • มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

    โทร 086-807-5928

    อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments