กรณีเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ยินยอมให้บุคคลอื่นกระทำชำเรา ถือเป็นความผิดฐานละเมิดหรือไม่ และถือว่าเด็กมีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วยหรือไม่ ?
หากเป็นความผิดแม้เด็กจะยินยอมจะมีการกำหนดค่าสินไหมทดแทนอย่างไร ?
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๗๗ ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๓ การฟ้องขอให้กักกันเป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ และจะขอรวมกันไปในฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกันหรือจะฟ้องภายหลังก็ได้
มาตรา ๔๔/๑นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา ดังต่อไปนี้ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๓๒/๒๕๖๒
แม้ผู้ร้องจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ แต่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ในการพิจารณาคดี ส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ โดยที่มาตรา ๔๔/๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาเพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่ง มาตรา ๔๔/๑ มีความหมายทำนองเดียวกับมาตรา ๔๓ เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยก็มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหาย หากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์โดยไม่คำนึงว่าพนักงานอัยการจะอุทธรณ์ฎีกาคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายหรือไม่ ปัญหาตามมาตรา ๔๔/๑ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ร้องได้
……………………ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๗ บัญญัติผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ…แสดงว่ากฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้นแม้จะยินยอมการกระทำของจำเลยก็ยังเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ มีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย…….
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า แม้จะยินยอมให้บุคคลอื่นกระทำชำเรา ก็ถือเป็นความผิดฐานละเมิด และถือว่าเด็กมีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย การกำหนดค่าสิ นไหมทดแทนให้เป็นไปตามส่วนแห่งละเมิด
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @LAWYER.IN.TH