Home ข่าวสาร จ้างรักษาความปลอดภัย ถือเป็นสัญญาจ้างทำของหรือไม่

จ้างรักษาความปลอดภัย ถือเป็นสัญญาจ้างทำของหรือไม่

2130

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภศ 2927 กรุงเทพมหานคร หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 700,684 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 660,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทบางนา เซ็นทรัล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าเป็นผู้ทำสัญญารักษาความปลอดภัยกับจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภศ 2927 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มีนาคม 2547) ต้องไม่เกิน 40,684 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

จำเลยร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยร่วมฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการหรือไม่ โดยจำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ว่าจ้างทำของตามสัญญารักษาความปลอดภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างนั้น เห็นว่า สัญญารักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่ก็เห็นได้ว่าจำเลยร่วมผู้ว่าจ้างยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน กล่าวคือ ตามข้อ 1 ระบุใจความว่า ผู้ว่าจ้างตกลงว่าจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างให้บริการความคุ้มครองรักษาความปลอดภัยและจัดการจราจร ดูแลความเรียบร้อยแก่บุคคลและทรัพย์สินทั้งภายในและภายนอกอาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลซิตี้ บางนา ตามสัญญา ข้อ 7 ระบุใจความว่า ผู้รับจ้างจะต้องทำรายงานผลการปฏิบัติงาน และเหตุการณ์ประจำวันให้ผู้ว่าจ้างทราบทุกวันเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องสรุปผลการปฏิบัติงาน รวบรวมสถิติทรัพย์สินสูญหายหรือเสียหายให้ผู้ว่าจ้างทราบเป็นรายเดือน และข้อ 10 ระบุใจความว่า ผู้รับจ้างจะต้องจัดระบบการจราจร การแจกบัตร รับบัตรคืนและควบคุมบัตรจอดรถให้เหมาะสม โดยผู้รับจ้างจะจัดทำบัตรจอดรถที่มีลักษณะตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง รับผิดชอบและแก้ไขปรับปรุงระบบการจราจร การจอดรถและระบบความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพอย่างดีที่สุด… ผู้ว่าจ้างมีสิทธิทักท้วงได้เมื่อเห็นว่าไม่เป็นตามเจตนาหรือจะทำให้เกิดความเสียหายหรือมีข้อบกพร่องและผู้รับจ้างจะดำเนินการแก้ไขโดยทันที จากสัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่แจ้งให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยร่วมประกอบกิจการศูนย์การค้าเซ็นทรัลซิตี้ บางนาและเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณศูนย์การค้าดังกล่าว ตามสัญญารักษาความปลอดภัยและการให้บริการที่จอดรถยนต์จำเลยร่วมกำหนดระเบียบให้ผู้ที่จะนำรถยนต์เข้ามาจอดต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางเข้า และต้องคืนบัตรจอดรถแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยก่อนนำรถยนต์ออกจากอาคารจอดรถ และหากทำบัตรหายต้องนำหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ และบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงจึงจะอนุญาตให้นำรถออกได้ดังที่ปรากฏด้านหลังบัตรจอดรถ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้ผู้ไปใช้บริการศูนย์การค้าเข้าใจว่า จำเลยร่วมได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ให้แก่ลูกค้าขณะเข้าไปซื้อสินค้าในศูนย์การค้าแทนจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการ ตามพฤติการณ์เข้าลักษณะตัวการตัวแทนด้วย จำเลยร่วมในฐานะเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณอาคารจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยร่วมได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในฐานะตัวการมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภศ 2927 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ก่อน หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนซึ่งโจทก์ได้ชดใช้แทนนางเพ็ญจันทร์ ผู้เอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันส่งคืนรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ภศ 2927 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ คงให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุปสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่จำเลยร่วมยังมีภาระหน้าที่จะต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองและบุคคลอื่นด้วย เพียงแต่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวแทนตน ตามข้อความในสัญญาจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีที่นอกจากจำเลยร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 นั้นก็ยังอยู่ในอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลของจำเลยร่วม โดยจำเลยที่ 1 ต้องรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยร่วมทราบและต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบอำนาจของจำเลยร่วมที่มอบหมายให้ทำการแทน หากจำเลยร่วมทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันที สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รับเอาการงานของจำเลยร่วมไปทำโดยเด็ดขาดและอิสระ ดังนั้น ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำแทนนั้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนด้วย สัญญารักษาความปลอดภัยดังกล่าวจึงมีทั้งสัญญาจ้างทำของและสัญญาตัวแทนรวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน การที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความเข้ากับบทกฎหมายที่ถูกต้องเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดี

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments