Home บทความ มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้าง ต้องทราบระเบียบทางราชการในการออกแบบหรือไม่

มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้าง ต้องทราบระเบียบทางราชการในการออกแบบหรือไม่

1311

มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้าง ต้องทราบระเบียบทางราชการในการออกแบบหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2559

โจทก์มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้างย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเป็นอย่างดีจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะไม่ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้ก่อสร้างให้แก่จำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 4 ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยไม่ได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง อันทำให้จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ก็ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่

ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าแห่งการงานอันเนื่องมาจากสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งไม่ได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำงานในงวดที่ 2 ยังไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการวิชาชีพในงวดที่ 2 โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าการงาน 2,140,000 บาท ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ออกแบบและส่งมอบแบบโครงการพัทยา สาย 2 ให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้ชำระค่าบริการวิชาชีพแก่โจทก์ครบตามสัญญา การที่จำเลยยอมรับมอบงานที่โจทก์ทำและชำระค่าบริการให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งใดบ่งชี้ว่างานออกแบบที่โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ ตามสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์และจำเลยมาทำสัญญาจ้างออกแบบกันใหม่แม้จะมีเนื้อหาเป็นการให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแบบเดิมที่โจทก์ทำไว้ก็ตาม ต้องถือเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาเพื่อผูกพันตามข้อตกลงใหม่ที่ระบุไว้ในสัญญาจึงไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ที่จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในแบบของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันจะทำให้สัญญาจ้างออกแบบฉบับใหม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพตามสัญญาฉบับใหม่แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี แม้สัญญาฉบับใหม่จะไม่ตกเป็นโมฆะแต่การที่โจทก์ในฐานะผู้มีอาชีพออกแบบในงานสถาปัตยกรรมย่อมต้องมีหน้าที่ออกแบบให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์ออกแบบอาคารเออยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีจำนวนเกิน 80 ห้อง นั้น แสดงว่าโจทก์ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน แม้จำเลยรู้เห็นหรือยินยอมก็ต้องถือว่าโจทก์มีส่วนผิด จึงสมควรไม่กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ในส่วนของการออกแบบอาคารเอ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการวิชาชีพเฉพาะในส่วนของการออกแบบอาคารบีเท่านั้น ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 428,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงการพหลโยธิน 37 ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยสามารถนำแบบแปลนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการตามสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พอถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ออกแบบสำหรับการก่อสร้างไม่ถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างออกแบบโครงการพหลโยธิน 37 หรือไม่… ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการออกแบบของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้เพดานห้องสูงมีความปลอดโปร่งอันส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าซึ่งหากนำไปใช้เป็นแบบในการก่อสร้างจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 25 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพด้านการออกแบบยอมกระทำในสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณชนถือว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดกฎหมายของตน โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 189,582.60 บาท

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/

Facebook Comments