Home บทความคดีแพ่ง การติชมโดยสุจริต ในคดีหมิ่นประมาท ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไรบ้าง

การติชมโดยสุจริต ในคดีหมิ่นประมาท ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไรบ้าง

2503

การติชมโดยสุจริต ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไรบ้าง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด และบ้านเมืองเป็นเวลา 5 วัน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 60,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด หรือบ้านเมืองฉบับหนึ่งฉบับใดเป็นเวลา 2 วัน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองเป็นพิธีกรจัดรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์ (Inside Thailand) ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม (เคเบิลทีวี) สปริงนิวส์ และวิทยุกระจายเสียง คลื่นความถี่ระบบ เอฟ.เอ็ม.97 เมกะเฮิรตซ์ โดยหยิบยกสองประเด็นใหญ่เป็นหัวข้อในการสนทนาคือ “แนวทางลดภาษีรถคันแรก” โดยสัมภาษณ์นายบุญทรง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น กับ “เปิดผลสอบคลิปบ่อนย่านรัชดา” สัมภาษณ์พลตำรวจเอกสถาพร จเรตำรวจแห่งชาติ ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดา ตามแผ่นวีซีดี และคำถอดเทปที่เกี่ยวกับคดีนี้ ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ คดีนี้โจทก์มีคำเบิกความของนายเจริญโรจน์ ผู้รับมอบอำนาจ กับวัตถุพยาน และคำถอดเทป เป็นพยาน เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสนทนาว่า บ่อนรัชดามีนายพลตำรวจสี่คนเข้ามาเกี่ยวข้องในหน้า 11 ของเอกสาร จำเลยที่ 1 กล่าวว่า ฉายาของน้องเล็กในก๊วน 4 นายพลตำรวจมีฉายาว่า…เก้าโล…แปดโล ต่อมาในหน้า 13 จำเลยที่ 1 กล่าวว่า 4 นายพลประกอบด้วย นรต. 30 นรต. 31 นรต. 36 บรรดาสี่นายพลที่คุ้นชื่อจริง ๆ มีสองคน ชื่อที่สามมีข่าวเป็นพัก ๆ แต่ชื่อที่สี่รับรองไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน ต่อมาในนาทีที่ 10 จำเลยที่ 1 ได้กล่าวถึงชื่อย่อนายตำรวจที่มีความสัมพันธ์กับนายแคล้ว และเกี่ยวกับซุ้มมือปืน จำเลยที่ 1 กล่าวว่า ในแวดวงซุ้มมือปืนเค้าเรียกว่า “พี่โก” พี่โกไหนผมไม่ทราบ พี่โกคนนี้อดีตเดินตามเฮียเหลา (หมายถึงนายแคล้ว) จากนั้นจำเลยที่ 1 เปลี่ยนไปพูดเรื่องเศรษฐกิจ แล้วกลับมาย้อนกล่าวว่า นรต. รุ่น 31 มีจำนวนหลายคน เช่น พลตำรวจเอกพงศ์พัศ พลตำรวจโทสมยศ และได้กล่าวต่อไปว่า พลตำรวจตรี ฮึ ๆ โกวิทย์ ก็อยู่ในรุ่นนี้ จากนั้นจำเลยที่ 2 กล่าวว่า การตรวจสอบล่าสุด ก็พบมูลและมีผลทำให้ 19 นายตำรวจอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย แล้วก็เป็นการสอบถามข้อเท็จจริงจากพลตำรวจเอกสถาพร ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการพาดพิงถึงตัวโจทก์อีกเลย ดังนั้น ที่พยานโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกล่าวตัวย่อว่า “โก” หรือนายพลตำรวจที่ร่วมเปิดบ่อนเคยเดินตามนายแคล้ว นั้น คือตัวโจทก์ เป็นความเข้าใจของพยานโจทก์ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรง จากการตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสอง พยานโจทก์ก็ไม่ยืนยันว่าโจทก์จะสนิมสนมและเคยเดินตามนายแคล้วจริงหรือไม่ ทั้งจะอยู่ในซุ้มมือปืนหรือไม่พยานก็ไม่ทราบ ส่วนนายพลตำรวจที่มีชื่อนำหน้าว่าโกนั้น ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่ามีอยู่หลายคน เช่น พลตำรวจเอกโกวิท พลตำรวจตรีโกศล พลตำรวจตรีโกศล พลตำรวจตรีโกสินทร์ และพลตำรวจตรีโกสินทร์ เป็นต้น ดังนั้น คำว่า “โก” หรือ “เดินตามนายแคล้ว” และ “ซุ้มมือปืนรู้จักดี” ตามที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นกล่าวยังไม่อาจสื่อให้บุคคลที่สามเข้าใจว่าหมายถึงตัวโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง

อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรกล่าวต่อไปว่า การกระทำที่เป็นหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หรือมาตรา 328 ก็ดี การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดถ้าต้องด้วยลักษณะที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 หรือ 331 หรือตามกฎหมายอื่น เช่น รัฐธรรมนูญ เป็นต้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์ (Inside Thailand) โดยเจาะลึกในประเด็นหลัก ๆ สองประเด็น กล่าวคือ ประเด็นที่ 1 “แนวทางลดภาษีรถคันแรก” และประเด็นที่ 2 “เปิดผลสอบคลิปบ่อนย่านรัชดา” ประเด็นหลัง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสัมภาษณ์พลตำรวจเอกสถาพรประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดา เนื่องจากก่อนวันเกิดเหตุนายชูวิทย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำเรื่องเปิดบ่อนรัชดาไปเปิดเผยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ทั้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ก็ได้ยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว สรุปความได้ว่า การเปิดบ่อนที่ย่านรัชดามีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงมิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น ยังเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์พลตำรวจเอกสถาพรประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) คดีนี้ไม่ว่าพิจารณาในแง่มุมใด ไม่มีทางลงโทษจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

สรุป

การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/

Facebook Comments