กรณีคู่สมรสลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน ถือเป็นหนี้ร่วมหรือไม่ ?
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๒๙๑ ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
มาตรา๘๕๒ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
มาตรา ๑๔๙๐ หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษาดังต่อไปนี้ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๓๑/๒๕๕๒
สามีจำเลยกู้เงินโจทก์ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ชำระหนี้เป็นส่วนๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อนให้ร่วมกับสามีชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ด้วย จำเลยคดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนโจทก์นำสัญญากู้ยืมฟ้องสามีจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ โจทก์กับสามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินสิ้นสุดไป โจทก์ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 การที่สามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยไม่ได้ร่วมทำสัญญาด้วย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย เมื่อจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่ผูกพันจำเลยเพราะไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่สามารถนำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้รับผิดได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 264 และ 247
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า คู่สมรสลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน ถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงิน ดังกล่าวถือเป็นหนี้ร่วม
สำนักงานกฎหมายปรัชญาเศรษฐ์ ถนนร่มเกล้า ซอย10 แขวง เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
หมู่บ้านศุภาลัย พาร์ควิลล์3 ซอย4
บ้านเลขที่ 290/221 โทร 0899811406 ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.byslaw.com/